การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น
โดย ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน
-----------------------------------------------------
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายวิจัย สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น โดยได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรีและนครปฐม จำนวน 1,484 คน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นชายร้อยละ 48.9 และหญิงร้อยละ 51.1 กลุ่มอายุ 18-30 ปี มีมากที่สุดร้อยละ 43.2 สถานภาพโสดร้อยละ 47.5 และสถานภาพสมรส ร้อยละ 46.7 นับถือ ศาสนาพุทธมากที่สุด ร้อยละ 97.0 ระดับการศึกษา ปริญญาตรีมากที่สุดร้อยละ 38.7 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 20.3 สถานภาพเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 22.0 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 21.0 และเจ้าของกิจการ/ ค้าขาย/ มีธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 20.3
ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.9 มีความคิดเห็นว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ของวัยรุ่นเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากถึงมากที่สุด โดยพบเห็นวัยรุ่นในชุมชนที่อาศัยอยู่สูบบุหรี่ ส่วนร้อยละ 46.7 ได้รับทราบว่าวัยรุ่นสูบบุหรี่จากสื่อต่างๆ ร้อยละ 52.5 เห็นว่า การสูบบุหรี่ของวัยรุ่นเกิดจากเลียนแบบจากเพื่อน/คนในครอบครัว และร้อยละ 51.7 คิดว่าเกิดจากอยากรู้อยากลอง
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.1 มีความรู้สึกรังเกียจวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ และร้อยละ 44.8 อยากให้วัยรุ่นเลิกสูบบุหรี่ ร้อยละ 61.0 เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเองและคนรอบข้าง และร้อยละ 35.0 เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องน่ารังเกียจ
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.3 เห็นว่าผู้ที่สูบบุหรี่ควรสูบในบริเวณที่จัดไว้เท่านั้น ส่วนร้อยละ 54.6 เห็นว่าวัยรุ่นควรเลิกสูบบุหรี่ และร้อยละ 52.6 คิดว่าควรหาวิธีช่วยให้วัยรุ่นเลิกสูบบุหรี่
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.6 เห็นว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ควรเลิกสูบได้เพราะสุขภาพทรุดโทรม ร้อยละ 52.7 คิดว่าจะเลิกสูบบุหรี่เพราะคนในครอบครัวขอร้อง และร้อยละ 52.7 เลิกสูบบุหรี่เพราะผลจากการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.5 เห็นว่ามาตรการที่จะส่งผลให้วัยรุ่นเลิกสูบบุหรี่ คือ การห้ามขายบุหรี่ให้เด็ก ร้อยละ 53.0 เห็นว่าการพิมพ์คำเตือนและรูปภาพแสดงพิษภัยของบุหรี่ จะส่งผลให้วัยรุ่นเลิกสูบบุหรี่เหมือนกัน ส่วนร้อยละ 52.0 เห็นว่าการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ น่าจะส่งผลให้วัยรุ่นเลิกสูบบุหรี่ได้เหมือนกัน
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.4 เห็นว่าสถานศึกษาควรร่วมรับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น ร้อยละ 55.4 เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขควรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น และร้อยละ 50.9 เห็นว่าครอบครัวควรร่วมรับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น
ส่วนความคิดเห็นต่อแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.3 เห็นว่าควรรณรงค์ให้วัยรุ่นทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ร้อยละ 60.0 เห็นว่าควรส่งเสริมให้วัยรุ่นใช้เวลาว่าง ให้เป็นประโยชน์โดยการออกกำลังกาย และร้อยละ 53.9 เห็นว่าควรปลูกฝังค่านิยมการไม่สูบบุหรี่ให้กับวัยรุ่น
การติดบุหรี่เป็นปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้นในปัจจุบัน วัยรุ่นทั้งหญิงและชายสูบบุหรี่มากขึ้น แต่วัยรุ่นชายมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่มากกว่าวัยรุ่นหญิง จากการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่เกือบ 5 แสนคน และเยาวชนอายุระหว่าง 18-24 ปี ติดบุหรี่กว่า 1 ล้านห้าแสนคน สิ่งสำคัญเร่งด่วนคือการหาทางช่วยเหลือให้ผู้ที่ติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ใหม่ ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มุ่งมั่นและหาแรงบันดาลใจให้ตนเองเลิกสูบบุหรี่ เช่น เลิกสูบบุหรี่เพื่อพ่อแม่ หรือคนรัก อีกทั้งภาครัฐต้องเร่งรณรงค์ให้เยาวชนเลิกสูบบุหรี่และบังคับใช้กฏหมายที่เกี่ยวข้องในการห้ามสูบบุหรี่ในสถานศึกษา ที่ทำงานและที่สาธารณะอย่างจริงจัง
Cadit : ชนาธิป พึ่งดอกไม้ ปชส.ม.คริสเตียน 034-229480 ต่อ 1171
เรวัติ น้อยวิจิตร สุพรรณบุรีนิวส์ rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445