มหาวิทยาลัยนเรศวรทำวิจัย “ผ้าทอลวดลายใหม่เอกลักษณ์ประจำจังหวัดพิษณุโลก”
องค์ความรู้จากภูมิปัญญา สู่สินค้าวัฒนธรรมรับประชาคมอาเซียน
สะท้อนตัวตน บนความร่วมสมัย
ผ้าไหม ผ้าฝ้ายฝีมือคนไทย คือภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันงดงามที่มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก โดยแต่ละจังหวัดต่างมีผ้าทอลวดลายเป็นเอกลักษณ์ สำหรับจังหวัดพิษณุโลกปัจจุบันมีผ้ามัดหมี่ลายดอกปีบ ซึ่งถอดแบบมาจากปีบพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานของจังหวัดพิษณุโลก เป็นผ้าทอพื้นเมืองประจำจังหวัดที่มีการรณรงค์ส่งเสริมให้สวมใส่อย่างต่อเนื่อง แต่นอกจากนี้แล้ว พิษณุโลกยังมีลวดลายผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เอง สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีการศึกษา วิจัยผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตามภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินงานวิจัยเรื่อง “การออกแบบลวดลายผ้าทอเอกลักษณ์จังหวัดพิษณุโลก” ขึ้น
ลวดลายดอกปีบกาสะลอง
“งานวิจัยนี้เริ่มตั้งแต่การศึกษา รวบรวมข้อมูลผ้าของแต่ละชาติพันธุ์ในจังหวัดพิษณุโลก โดยการลงพื้นที่ของบุคลากรสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน พร้อมทั้งศึกษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และเอกสารตำราต่าง ๆ ที่สื่อความหมายตัวตนของพิษณุโลก เช่น ลายปูนปั้น จิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยะรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงงานวิจัย โดยมีนายวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ นักวิชาการช่างศิลป์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เล่าถึงการดำเนินการว่า
ลวดลายปีบขาว
“เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้ว ก็นำมาออกแบบเป็นลวดลายผ้าทอในลักษณะกราฟ โดยใช้หลักการสังเกต วิเคราะห์ ศึกษาและจัดกลุ่มลวดลายออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มลวดลายสัตว์ กลุ่มลวดลายพรรณไม้ กลุ่มลวดลายสิ่งของเครื่องใช้ และกลุ่มลวดลายเบ็ดเตล็ด กลุ่มละ ๓ ลวดลาย รวมเป็น ๑๒ ลาย จากนั้นนำสำรวจความคิดเห็น สอบถามกลุ่มตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มแบบไม่จำเพาะเจาะจง และไม่เน้นเฉพาะคนพิษณุโลกเพราะเราคาดหวังว่าเมื่องานวิจัยสำเร็จเกิดเป็นผืนผ้าขึ้นมาแล้ว ทุกคนสามารถใช้ได้”
จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง ได้ลวดลายลักษณะผ้าทอที่มีความพึงพอใจสูงสุด จำนวน ๖ ลาย จึงนำไปสู่กระบวนการทอจริง โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ไทลาว
ลวดลายดอกนนทรี
ผ้าทอ ๖ ลวดลายประกอบด้วย
๑. ลวดลายดอกปีบกาสะลองได้แรงบันดาลใจจากมุมด้านหน้าของดอกปีบ ที่มีลักษณะกลีบดอก ๔ กลีบ
๒. ลวดลายปีบขาว เป็นแนวคิดต่อเนื่องมาจากลวดลายผ้าทอดอกปีบดั้งเดิม
๓.ลวดลายดอกนนทรี มีแรงบันดาลใจจากดอกไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลกคือ ดอกนนทรี ลักษณะเป็นดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงและก้านกิ่งมีสีน้ำตาล
๔. ลวดลายไก่โคมขอ ได้แรงบันดาลใจจากไก่ชนเหลืองหางขาวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดารเมื่อครั้งพระองค์ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราช
๕. ลวดลายสองแควได้แรงบันดาลใจจากลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดพิษณุโลกที่มีแม่น้ำสองสายไหลผ่านอันเป็นที่มาของชื่อเมืองสองแคว
๖. ลวดลายน้ำน่านได้แนวคิดจากแม่น้ำน่าน แม่น้ำสายหลักของจังหวัดพิษณุโลก
นายวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ เล่าถึงกระบวนการวิจัยต่อว่า“ตอนนี้เราได้ผ้าทอทั้ง ๖ ลวดลายแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การนำไปสำรวจความพึงพอใจอีกครั้ง เพื่อให้ได้ ๓ ลวดลายใหม่ เป็นผ้าทอเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลกจำนวนทั้งสิ้น ๓ ลวดลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการคัดสรรลวดลายผ้าทอทั้งในด้านความสวยงามและสุนทรียภาพ ซึ่งทำให้เกิดโอกาสและช่องทางในด้านการแข่งขันตามลักษณะกลไกของการตลาด”
ลวดลายไก่โคมขอ
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังมุ่งหวังให้ผลของการวิจัยครั้งนี้สอดรับกับการเปิดประชาคมอาเซียนเนื่องจากแนวโน้มของรูปแบบสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการจะเปลี่ยนไปเป็นสินค้าที่มีความเป็นวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นมากยิ่งขึ้นดังนั้น เมื่อมีการคิดประดิษฐ์ลวดลายผ้าเอกลักษณ์ของตัวเอง จังหวัดพิษณุโลกก็จะมีวัฒนธรรมผ่านลวดลายผ้าทอพื้นเมือง นำเสนอเป็นสินค้าวัฒนธรรมประจำจังหวัดที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว มีความหลากหลาย เป็นการสร้างมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้
ลวดลายสองแคว
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเชิญทุกท่านชื่นชมผ้าทอต้นแบบจำนวน ๖ ลวดลายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเลือกสรร กลั่นกรอง ก่อเกิดเป็น ๓ ลวดลายผ้าทอเอกลักษณ์ประจำจังหวัดพิษณุโลก ในนิทรรศการ “เส้นสายชาติพันธุ์สู่การพัฒนาผ้าทอร่วมสมัย”ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานความจริงยิ่งกว่าฝัน หลังวัน ๒๕ ปี มหาวิทยาลัยนเรศวร วันที่ ๑๐ – ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พิษณุโลก
ลวดลายน้ำน่าน
พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
เรวัติ น้อยวิจิตร hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445