วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ร้อยตำรวจโทอาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองภาษีเจริญและคลองสาขา ที่เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จัดโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร สถานการณ์ปัญหาจากผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำคลองภาษีเจริญและคลองสาขาต่างๆ จำนวน 10 คลอง พบว่าค่าออซิเจนละลายน้ำ DO ทุกคลองไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คลองวัดใหม่ คลองราษฎร์นิยม คลองสี่วาตากล่อมและคลองแครายใหม่ มีค่าแย่ลง คลองศรีสำราญ ประตูระบายน้ำ คลองแนวลิขิต 1 คลองอ้อมแขม และคลองกระทุ่มแบนมีค่าดีขึ้น ค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ BOD ทุกคลอง ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คลองอ้อมแขม คลองวัดใหม่ คลองสี่วาตากล่อม คลองแครายใหม่ มีค่าแย่ลง คลองแนวลิขิต 2 ประตูระบายน้ำมีค่าแย่ลงเล็กน้อย คลองแนวลิขิต 1 มีค่าแย่ลงมาก คลองราษฎร์นิยม คลองกระทุ่มแบน และคลองศรีสำราญมีค่าดีขึ้น ค่าโคลิฟอร์มแบคทีเรีย TCB คลองแนวลิขิต 1 คลองวัดใหม่ คลองแครายใหม่ คลองกระทุ่มแบน คลองแนวลิขิต 2 และประตูระบายน้ำ 1 มีค่าแย่ลง คลองอ้อมแขม คลองราษฎร์นิยม คลองศรีสำราญ และคลองสี่วาตากล่อมมีค่าดีขึ้น
นอกจากนี้คณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองภาษีเจริญและคลองสาขาได้รายงายผลการติดตามกรณีโรงงาน เค พี เอส แมนนูแฟคเทอริ่ง ตำบลท่าไม้ ดังนี้ ให้ปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ ภายใน 45 วัน ให้หามาตรการป้องกันน้ำเสียไม่ให้ระบายออกสู่ภายนอกโรงงาน ให้ดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้
ร้อยตำรวจโทอาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่าในปี 58 จังหวัดจะดำเนินโครงการคลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข โดยแนวทางการดำเนินโครงการแยกเป็น 3 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 คลองที่มีผักตบชวา และวัชพืชหนาแน่น มิติที่ 2 คลองหลักๆ ที่มีปัญหาคุณภาพน้ำ น้ำเสีย 6 คลอง คือ คลองภาษีเจริญ คลองสี่วาพาสวัสดิ์ คลองดำเนินสะดวก คลองมหาชัย คลองครุ และคลองสุนัขหอน และมิติที่ 3 การขุดลอกแม่น้ำ ลำคลองที่มีปัญหาตื้นเขิน
ซึ่งทางจังหวัดได้กำหนด Road map ในการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วน จัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ประชุมทำความเข้าใจคณะทำงานตามโครงการ/ ออกแบบ / กำหนดทิศทาง / วิธีดำเนินการ โดยใช้รูปแบบคณะทำงานเหมือนกับคลองภาษีเจริญซึ่งกำหนดเจ้าภาพหลักรับผิดชอบดำเนินโครงการใน 6 สายคลอง และกำหนด ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสำรวจลำคลองสาธารณะนอกจาก 6 คลองดังกล่าวในพื้นที่ ว่ามีคลองอะไรบ้าง มีปัญหาอย่างไร ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อเป็นฐานข้อมูล (คลองที่ผ่านพื้นที่ 2 อปท. ให้อำเภอสำรวจ / คลองที่ผ่านพื้นที่ 2 อำเภอ ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสำรวจ) จากนั้นจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการ ตามปัญหาที่สำรวจพบแล้วรายงานผลการปฏิบัติงานให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ระยะยาว หน่วยงานเจ้าภาพแต่ละแห่งต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 มิติให้แล้วเสร็จ พร้อมตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวัง ติดตามและการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้ลำคลองอยู่ในสภาพปกติ
ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร / ลิขิต รักอยู่ สมุทรสาครนิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น