วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

ป.ป.ส. เปิดตัวหนังสือนิทาน สร้างภูมิคุ้มกัน เกราะป้องกันชีวิตลูกรัก







นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (รองเลขาธิการ ป.ป.ส.) เป็นประธานงานเปิดตัวหนังสือนิทานสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด ชุด “อ่านอุ่นรัก” ภายใต้แนวคิด “นิทานสร้างภูมิคุ้มกัน...เกราะป้องกันชีวิตลูกรัก” โดยมี มอสปฏิภาณ ปฐวีกานต์และครอบครัว ร่วมงานในฐานะตัวแทนพ่อแม่ซึ่งได้ทดลองใช้สื่อหนังสือนิทานกับลูกน้อยที่อยู่ในช่วงปฐมวัย พร้อมร่วมสนทนาถึงผลดีของหนังสือนิทานสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กปฐมวัย ที่สอดแทรกเนื้อหาความรู้และเสริมทักษะ “ความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต” หรือ EF (Executive Functions) ร่วมกับ นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป) และ รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43  ณ เวทีเอเทรียม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์




        นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ ในปี 2558 – 2562 ไว้ 8 ด้าน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ โดยยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ยุทธศาสตร์การป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดให้กับเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา รวมไปถึงดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันเชิงรุกให้กับเด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี เพื่อตัดวงจรปัญหายาเสพติดตั้งแต่ยังไม่เกิดปัญหา และเป็นการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งและปลอดภัยจากยาเสพติด การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันยาเสพติด จะประกอบไปด้วย มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1) สร้างเครื่องมือจัดทำสื่อเสริมพัฒนาการสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กปฐมวัย 2) พัฒนาบุคลากร 3) ขยายและพัฒนาภาคีเครือข่าย และ 4) พัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ โดยมีการดำเนินงานควบคู่กันไปในทุกมาตรการอย่างต่อเนื่อง สำหรับกิจกรรมวันนี้ เป็นการเปิดตัวหนังสือนิทาน ชุด “อ่านอุ่นรัก” (หนึ่งชุดมี เรื่อง ได้แก่ กอด/ เมี้ยว เมี้ยว มา มา จะพาไปหาแม่/ ต้นกล้า ผู้กล้าหาญ/ ไก่ย่างแสน...อร่อย/ ลูกไม้...ขอโทษ) นิทานชุดนี้มีเนื้อหาสอดแทรกทักษะด้านความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต หรือ EF : Executive Functions ที่สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ริเริ่มขึ้น โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์





               ด้านพัฒนาการเด็ก นักวิชาการด้านการศึกษาปฐมวัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สถาบันอาร์แอลจี (รักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการหนังสือนิทานสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดสำหรับเด็กปฐมวัย มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือกลุ่มเด็กปฐมวัยที่จะได้รับการเสริมสร้าง EF ผ่านครูผู้ดูแลเด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง พร้อมรณรงค์ให้สังคมหันมาสนใจและร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากครอบครัวของตน นอกเหนือจากกิจกรรมเปิดตัวหนังสือนิทานดังกล่าวแล้ว ยังได้เชิญครอบครัวคุณมอส - ปฏิภาณ (พ่อมอส - แม่เกม - น้องโสน) มาร่วมสร้างสีสันด้วยการเล่านิทานประกอบการแสดงมาสคอต เรื่อง “ต้นกล้า...ผู้กล้าหาญ” เป็นการสาธิตการใช้นิทานเพื่อเสริมทักษะด้านความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต หรือ EF ให้กับเด็กเป็นตัวอย่าง





          นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป) กล่าวว่า สมองของมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนา EF แต่ต้องได้รับการฝึกฝน ช่วงเวลาฝึกฝนที่ได้ผลดีที่สุดคือช่วงแรกเกิด - ขวบ หลังจากนั้นไปแล้วก็ยังพัฒนาได้ แต่ในอัตราที่ไม่ดีเท่าวัยเด็กเล็กโดยสมองส่วนหน้า(Prefrontalcortex) ทำหน้าที่ยับยั้งการเข้าหายาเสพติดโดยควบคุมความคิดและการกระทำ (Cognitive control) ไม่ให้ตอบสนองออกไปตามความต้องการ รู้จักคิดว่าสิ่งไหนไม่ดีและยับยั้งไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี ความบกพร่องของ EF ในการทำงานของสมองส่วนหน้าเป็นสาเหตุของการติดสารเสพติดทำให้ไม่สามารถยับยั้งความคิดและการกระทำ (inhibition) จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การส่งเสริมให้เด็กมีทักษะ EF ที่ดีตามวัยช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหาสังคม พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ติดการพนัน และติดยาเสพติด




           นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวปิดท้ายว่า สำนักงาน ป.ป.ส. มีความตั้งใจในการจัดทำหนังสือนิทานสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดชุด “อ่านอุ่นรัก” ชุดนี้ เพื่อเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับเด็กปฐมวัย โดยดำเนินการผลิตจำนวน 150,000 ชุดๆ ละ 5 เล่ม รวมทั้งสิ้น 750,000 เล่มและมีแผนส่งต่อให้กับหน่วยงานภาคีเครือข่าย  ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักการศึกษาและสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะแจกจ่ายหนังสือไปยังโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 53,553 แห่ง โดยได้จัดส่งเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2558 นี้



https://www.oncb.go.th/Pages/main.aspx


พนิต  ใจคนึง  ปชส.สนง.ปปส. 091-882 1476

                 เรวัติ  น้อยวิจิตร  สุพรรณบุรีนิวส์  rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น