ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ นายน่อแนะ หรือหน่อเอะ มีมิ (ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะยอ/ ผู้ฟ้องคดี) จำนวนเงิน 10,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ในคดีที่ กรมอุทยานฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) เข้าไปรบกวนการครอบครองและทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมทั้งทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี ทั้งยังกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย รายละเอียดโปรดอ่านตามคำพิพากษาฉบับเต็มที่แนบมาพร้อมนี้
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลปกครองกลาง ออกนั่งบัลลังก์ เพื่ออ่านคำพิพากษาในคดีที่นายน่อแอะ หรือหน่อเอะ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงเชื้อสายปกาเกอะญอ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยที่บ้านบางกลอย หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากเหตุเมื่อวันที่ 5-9 พ.ค. 2554 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับพนักงานของอุทยานฯ ได้เข้าไปรื้อทำลายบ้านเรือน และจุดไฟเผาบ้านและทรัพย์สินของนายน่อแอะและกะเหรี่ยงในชุมชนดังกล่าว ทำให้นายน่อแอะได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว
ทั้งนี้ ศาลได้พิจารณาในกรณีที่นายน่อแอะฟ้องว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ เขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เผาทำลายบ้านของนายน่อแอะ ตามแผนโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งจากการไต่สวนพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในป่าลึก และมีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อเปิดป่าดงดิบ ไม่ใช่ที่ดินทำกินในอุทยานที่มีการจัดสรรให้ทำกิน จึงถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.อุทยาน และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจา ก็ได้มีการจัดล่ามและชาวกระเหรี่ยงในพื้นที่ร่วมเจรจา รวมทั้งมีการกำหนดเวลาให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง การกระทำของกรมอุทยานจึงไม่ถือเป็นการละเมิด โดยการกระทำของหัวหน้าอุทยานฯ เป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมายในกรณีผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งการอ้างมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ไม่สามารถนำมาอ้างได้ เพราะมติดังกล่าวจะคุ้มครองเฉพาะชาวกะเหรี่ยงในชุมชนดังเดิม ไม่รวมการบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยาน ในลักษณะการเปิดป่าใหม่ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่ทางราชการจัดสรร หรือยกเว้นให้ จึงไม่อาจอ้างมติ ครม.ดังกล่าวได้
ส่วนกรณีการเรียกค่าเสียหายศาลได้วินิจฉัยและกำหนดค่าเสียหายให้แก่นายน่อแอะตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิด โดยศาลเห็นว่า สิ่งของ เครื่องใช้ครัวเรือน และของใช้ส่วนตัวที่อยู่ในเพิกพังซึ่งตั้งอยู่ในป่าลึกบนเทือกเขา และมีการบุกรุกแผ้วถางปิดพื้นที่ป่าแปลงใหม่ ไม่มีพืชพรรณ หรือไม้ยืนต้นที่เกิดจาการเพาะปลูก อันแสดงให้เห็นว่ามีการเข้ามาพักอาศัยเป็นเวลานานแล้วแต่อย่างใด
อีกทั้งนายน่อแอะมีบ้านพักอาศัยแท้จริงในชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย บริเวณที่ดินที่ราชการจัดสรรให้อยู่อาศัยทำกินอยู่แล้ว สิ่งของเครื่องใช้ครัวเรือน และของใช้ส่วนตัวที่นายนอแอะเก็บไว้ที่เพิงพักซึ่งถูกเผาจึงย่อมมีไม่มาก และมีมูลค่าหรือราคาไม่สูงมากนัก จึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย 5,000 บาท ค่าเครื่องใช้ 5,000 บาท รวม 10,000 บาท ให้แก้ผู้ฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันคดีสิ้นสุด ส่วนคำขออื่นให้ยกฟ้อง
นายธนู เอกโชติ ทนายความของนายน่อแอะ กล่าวว่า คงจะต้องไปหารือกับคณะทำงานว่าจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ ซึ่งทีมทนายของสภาทนายความยังเห็นแย้งในกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีเรื่องพื้นที่พิพาทที่ศาลเห็นว่าเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่ ซึ่งในส่วนของทีมทนายเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เดิมที่ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่อาศัย และนายน่อแอะไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินใหม่ รวมทั้งกรณีค่าเสียหายซึ่งจากเดิมได้ฟ้องจำนวนกว่า 1,000,000 บาท ที่ในจำนวนนี้เป็นเรื่องของวิถีชีวิต ทรัพย์สิน บ้าน และการละเมิดสิทธิความเป็นคน
ส่วนชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ กล่าวว่า คำพิพากษาที่ออกมาจะเห็นว่านายน่อแอะ มีที่ทำกินที่ชัดเจน ที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นการกล่าวอ้างที่ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเห็นพื้นที่จริง ซึ่งที่ผ่านมาเราถูกกล่าวหาและในวันนี้ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยชอบตามกฎหมาย มีการเจรจา และไม่มีพื้นที่เดิมที่อาศัยในป่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าสินไหมที่ศาลสั่งให้จ่ายแก่ผู้ฟ้องคดีนั้นทางผู้ถูกฟ้องจะขอใช้สิทธิในการอุทธรณ์การจ่ายค่าสินไหมดังกล่าว
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง
โทร. 02 1411165, 02 1411167-8
เรวัติ น้อยวิจิตร hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น