วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

วช.ต่อยอดงานวิจัยสู่การท่องเที่ยวไทยเก๋ไก๋ยั่งยืน



เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ร่วมกับ สกว. จัดการประชุมนโยบายในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ


ศาสตราจารย์นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ในปี 2560 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อนำองค์ความจากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนา ประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” โดยมีกิจกรรมภาคนิทรรศการ และการประชุมในหัวข้อสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมงาน โดย วช.ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดการประชุมวิชาการเรื่อง “นโยบายในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน” ซึ่งมีวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมานำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น



ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวทั่วโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย ยุโรป เติบโตเพิ่มขึ้น 6% อเมริกาเพิ่มขึ้น 4% แอฟริกาเพิ่มขึ้น 8% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้การท่องเที่ยวเติบโต คือ คนยุค Millennium จะเดินทางท่องเที่ยวถี่ แต่ใช้ค่าใช้จ่ายน้อย ถือว่าเรื่องท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนึ่งให้การดำเนินชีวิต มีการวางแผนท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงเป็นคนวางแผน และสถานการณ์ การท่องเที่ยวตามชายแดนของไทยเมื่อดูตามปริมาณจำนวนคนผ่านแดน ยังอยู่ในปริมาณไม่เยอะมาก ซึ่งการสนับสนุนกการท่องเที่ยวข้ามแดนต้องให้ความสำคัญในส่วนของ ปัญหาและอุปสรรคสำหรับความร่วมมือการท่องเที่ยว การเมืองและกฎระเบียบ องค์การและการกำกับดูแลวัฒนธรรมสังคมและเศรษฐกิจ



นายเนวิน สินสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำนักงาน ฯร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการช่วยเหลือด้านการเงิน งานวิจัยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ส่วนใหญ่เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ด้วยการฝึกอบรมพัฒนา เพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถพัฒนาโครงการพื้นฐานเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยร่วมกับ สกว. นำงานวิจัยพัฒนาพื้นที่ด่านชายแดนบ้านฮวกเพื่อรองรับการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน มาผลักดันเพื่อก่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามพรมแดนจากด่านชายแดนบ้านฮวก จังหวัดพะเยา เชื่อมโยงไปยังต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทั้งนี้ด่านบ้านฮวก จ.พะเยา ยังเป็นด่านเล็กที่ต้องพัฒนาด้านโครงสร้างเพื่อให้รองรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศจีนรวมทั้งชุมชนต้องมีการเตรียมตัวรับมือนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านที่พัก แหล่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งต้องมีการพัฒนาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านโครงสร้างพื้นฐาน


ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นโยบายภาครัฐมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดน ประเทศไทยควรใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน เร่งการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและขยายความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ในการพัฒนาแรงงานของภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งแรงงานวิชาชีพ แรงงานมีทักษะ และแรงงานไม่มีทักษะ เร่งพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน และเร่งขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาความร่วมมือในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์จากฐานการผลิตชุมชนสู่แหล่งแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านโดยเริ่มจากการพัฒนาด่านการค้าชายแดนและโครงข่ายการคมนาคมขนส่งบริเวณประตูการค้าหลักของประเทศเพื่อรองรับการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตและการลงทุนข้ามแดน โดยเป้าหมายหลักเป็น 1 ใน 10 ของโลก ผลักดันให้มีเสรีในการข้ามพรมแดนในรูปแบบของ Single Visa ซึ่งจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นในทันทีและสามารถถ่ายเทนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้ สอดคล้องกับการผลักดันของรัฐบาลที่เน้นการเป็น THAILAND plus 1 มีแนวคิดที่ว่า นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ไทยแล้วก็จะเดินทางท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านอย่างน้อย 1 ประเทศ ปัจจุบันอาเซียนได้มีการร่วมมือกันในรูปแบบของการสร้างฐานข้อมูล การทำการตลาด และการส่งเสริมการพัฒนาท่าเรือร่วมกัน ทั้งการร่วมมือกันระหว่างไทย-ลาว ในการพัฒนาเส้นทาง R3 การร่วมมือไทย-เมียนมาร์ เป้าหมายแรกในการพัฒนาคือการพัฒนาแหล่งและการบริการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูเก็ต พังงา และหมู่เกาะต่างๆ ของเมียนมาร์ และส่งเสริมให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในหมู่เกาะทางตอนใต้ของเมียนมาร์ ซึ่งต้องมีการขอความร่วมมือในเรื่องของการลงทุนให้กับนักลงทุนไทย ท่านปลัดการท่องเที่ยวได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ประเทศไทยจะประกาศให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน Amazing Thailand 2018





อนงค์วดี จีระบุตร ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
เรวัติ  น้อยวิจิตร  นสพ.พลังชน  rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น