สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ต่อยอดอบรมใช้งานวิจัยแก้ปัญหาพื้นที่ ด้วยวิธีปรับปรุงดิน และผ่านกลไกเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดธรรมขาติ สร้างรายได้แก่ชุมชน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในปีนี้ วช.ได้สนับสนุนทุนกิจกรรมส่งเสริมงานวิจัย ภายใต้โครงการจัดความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2560 ให้แก่ ดร.อรทัย ศุกรียพงศ์ และคณะ จากกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อดำเนินการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้เศษวัสดุในไร่นา เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน โดยผ่านกระบวนการเพาะเห็ดและเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดธรรมชาติ ให้แก่เกษตรกรใน ตำบลหนองเรือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 พร้อมนำสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมตามโครงการสื่อมวลชนสัญจรด้วย
รองเลขาธิการ วช.กล่าวว่า การถ่ายทอดความรู้ดังกล่าว เป็นความสำเร็จในการทำงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ และการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นความต้องการและเป็นปัญหาของพื้นที่ที่นักวิจัยได้เห็นจริง โดยร่วมมือกับเกษตรกรในการแก้ปัญหาเวลาว่างหลังฤดูกาลเพาะปลูกให้เกิดประโยชน์และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนักวิจัยได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยถ่ายทอดสู่เกษตรกรตามความต้องการ ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่ดีในการขยายผลงานวิจัยเรื่องพัฒนาดิน ลดต้นทุน และนำความรู้ไปสู่ผู้ใช้ จึงอยากให้โครงการฯ มีความยั่งยืนและพัฒนาต่อยอดในอนาคต โดยเฉพาะการเผยแพร่ผ่านสื่อ เพื่อให้เห็นว่างานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่นักวิจัยก็ภูมิใจในการทำงานมากขึ้น
ด้าน ดร.อรทัย ศุกรียพงศ์ นักวิจัย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกร มีเวลาว่างหลังทำนา รายได้ไม่พอใช้และขาดทุนจากการเพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริม จึงขอทุนจาก วช.เพื่อทำเห็ดเศรษฐกิจ โดยวิธีเพาะเห็ดจากธรรมชาติ และจัดอบรมความรู้ให้แก่เกษตรกร โดย เฉพาะการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกวิธี ซึ่งต่างจากการเพาะเห็ดวิธีเดิมที่เพาะโดยซื้อก้อนเชื้อมา ทำให้ลงทุนสูง แต่ทางโครงการฯ จะอบรมให้ทำก้อนเชื้อเอง ทำให้ได้เห็ดคุณภาพดี และสามารถเพาะเห็ดได้หลายชนิด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดหงอนขาว เห็ดฟาง และกำลังขยายการเพาะเห็ดเผาะในระยะต่อไป ซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างดี จนเกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อยอดโครงการจากการอบรม
ส่วนการทำให้เกิดเห็ดธรรมชาติ เช่น เห็ดตับเต่า เห็ดเผาะ จะใช้ต้นยางนาในป่าชุมชนเป็นตัวเหนี่ยวนำ เนื่องจากเห็ดเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองเฉพาะเจาะจงกับรากของต้นยางนา ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนปลูกต้นยางนามากขึ้นด้วย
จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น