วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560

วช.นำสื่อชมการใช้ชีววิธีปราบศัตรูกุหลาบและผัก



สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการจัดการโรคและแมลงศัตรูกุหลาบและผักโดยชีววิธี แก่เกษตรกรภาคเหนือ หวังเพิ่มมูลค่าผลผลิต และให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น



ดร.พิภัทธ เจียมพิริยะกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติภาคเหนือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ของ วช. กล่าวบรรยายเรื่อง "การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี" ในกิจกรรม ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นตามโครงการสื่อมวลชนสัญจร ประจำปี 2561 ครั้งที่ 1 ซึ่ง วช. โดยศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13–14 ธันวาคม 2560 ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเน้นการบริหารจัดการโรค และแมลงศัตรูกุหลาบ และผักโดยชีววิธี



ดร.พิภัทธ เจียมพิริยะกุล กล่าวว่า การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีนั้นมีข้อดีหลายประการ แต่การปรับเปลี่ยนจากสารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ศูนย์วิจัยฯ วช.จึงทำการวิจัยให้เป็นเรื่องง่าย เพื่อแก้ปัญหา พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรหันมาใช้ระบบอินทรีย์ ทั้งนี้ การจะให้เกษตรกรลด ละ และเลิกใช้สารเคมี เพื่อให้อาหารปลอดภัย ผู้บริโภคนับเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะกุหลาบที่มีความเป็นไปได้ในการควบคุมศัตรูพืชโดยใช้ชีววิธี ซึ่งเป็นการใช้เชื้อจุลินทรีย์กำจัดโรค เช่น งานวิจัยเชื้อราปฏิปักต์ต่อแมลงศัตรูพืช จนได้เชื้อราที่ทำลายแมลงได้หลากหลายชนิด เป็นต้น หากปลูกกุหลาบให้ปลอดสารเคมีโดยใช้ชีววิธี ก็สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับการปลูกกุหลาบได้ โรคของกุหลาบมีหลายชนิด เช่น โรคใบจุด ราแป้ง ราน้ำค้าง ใบด่าง ฯลฯ ซึ่งเกษตรกรต้องแยกโรคของกุหลาบให้ได้ก่อน เพื่อจัดการกับโรคแต่ละชนิด โดยชีววิธีได้อย่างถูกวิธี



ด้านนายประพันธ์ มาลาศรี หัวหน้าศูนย์โครงการหลวงทุ่งเริง กล่าวว่า ทางโครงการฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่และไม้ผลหลายชนิด ทั้งอโวคโด ส้ม มะม่วง และเริ่มปรับมาปลูกผักอินทรีย์ (ออแกนิก) ในปี 2550 จนทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนั้นมีการผลักดันให้มีการปลูกกุหลาบ และต้องการให้ศูนย์ฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ในการขยายพันธุ์และผลิตกุหลาบ  



ปัจจุบันศูนย์ฯ มีกุหลาบมากกว่า 200 สายพันธุ์ ในพื้นที่ 2 ไร่ แต่ยังใช้วิธีปลูกแบบกึ่งเคมี ดังนั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตในอนาคต จึงมีโครงการปลูกกุหลาบแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นอาหารปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ ทั้งด้านบุคลากรและพื้นที่ คาดหวังว่าโครงการอบรมครั้งนี้ จะเติมเต็มองค์ความรู้ให้เกษตรกรในการปลูกกุหลาบโดยชีววิธีเพื่อผลิตต้นกล้าส่งให้โครงการ เป็นการสร้างอาชีพ และมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโครงการก็จะเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเกษตรกรด้วย  



ดร.กลอยใจ สำเร็จวาณิชย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ วช. กล่าวว่า วช.พร้อมสนับสนุนการผลิตพืชคุณภาพสูงลอดภัยแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งการช่วยส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้ โดยการอบรมและสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในเรื่องการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ





จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น