นักวิชาการ ถอดบทเรียนธนาคารปูม้าอ่าวพุมเรียง ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติพร้อมเครือข่ายสนับสนุนงานวิจัยเชิงพื้นที่ เพื่อขยายผลอย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่ชุมชนแหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย เป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เป็นหน่วยงานบูรณาการในการขยายผล ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นพื้นที่ที่มีปูม้าค่อนข้างมาก วช.จึงค้นหาและเลือกบริเวณพื้นที่อ่าวพุมเรียง เพื่อถอดบทเรียนและขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากที่มีธนาคารปูม้าในพื้นที่นี้อยู่แล้ว 3-4 แห่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและใกล้แหล่งการทำประมงปูม้า เพื่อเพิ่มปริมาณปูม้าในธรรมชาติและรายได้ของชาวบ้าน ขณะที่ วช.นำองค์ความรู้งานวิจัยปูม้าในเชิงพื้นที่ที่มีอยู่แล้วมาขับเคลื่อนถ่ายทอดสู่ชุมชน เช่น การศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปูม้า เพราะปูม้าที่วัยอ่อนค่อนข้างอ่อนไหว ดังนั้นสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จึงมีผลต่อลูกปูม้า ทั้งคุณสมบัติของน้ำ อาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นต้น
นอกจาก วช.แล้ว ยังมีหน่วยงานในเครือข่ายที่สนับสนุนการวิจัยระยะสืบพันธุ์ของปูม้า รวมถึงขนาดพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถสนับสนุนร่วมกันได้ และจะส่งผลให้ได้รูปแบบหรือแบบแผนการจัดการปูม้าบนพื้นฐานวิชาการและงานวิจัยที่นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ส่วนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งรับผิดชอบดูแลจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ดังนั้นข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ ที่ทำมาโดยผ่าน วช. และหน่วยวิจัยอื่น จะทำให้มีข้อมูลเพียงพอในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมทั้งบูรณาการร่วมกับกรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศูนย์วิจัยต่าง ๆ ในการเพาะฟักลูกปูม้าให้ตัวใหญ่ ซึ่งชาวประมงก็จะจับได้ปูม้าที่ตัวใหญ่และได้ราคาขึ้น ทั้งนี้การที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำงานร่วมกับ วช. และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ถือเป็นภาพรวมของประเทศ ในการขับเคลื่อนขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย ซึ่งการดำเนินงานในรูปแบบนี้จะส่งผลให้ปริมาณปูม้าในธรรมชาติเพิ่มขึ้น
ด้านนายเสน่ห์ รัตนสำเนียง เจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน สำนักงานประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงความเป็นมาตั้งแต่เริ่มธนาคารปูม้าบริเวณอ่าวพุมเรียง ซึ่งมีปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ก็ได้ต่อสู้ เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยใช้การบริหารจัดการของชุมชนผ่านการสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน และหากเพิ่มองค์ความรู้จากงานวิจัยและเทคโนโลยี เชื่อว่าจะช่วยให้การเพาะเลี้ยงปูม้ามีประสิทธิภาพขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการของทางราชการที่เข้ามาช่วยอนุรักษ์ปูขนาดเล็กด้วย
นายจรินทร์ เฉยเชยชม ประธานกลุ่มอนุรักษ์สัตว์น้ำตำบลพุมเรียง กล่าวว่า งานวิจัยเข้ามาช่วยหลังเกิดปัญหาของอ่าวพุมเรียง และสร้างเครือข่ายบริหารจัดการโดยชุมชนและวิชาการ เพื่อสร้างความั่นคงในอาชีพประมงและอาหาร พร้อมกับขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยว ถ้าชุมชนไม่ร่วมมือกันย่อมไม่ประสบผลสำเร็จแน่นอน โครงการธนาคารปูม้า ถือเป็นการตอบโจทย์ประเทศไทย อย่างไรก็ตามจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ 3 ปัจจัย ได้แก่ เครื่องมือประมง กฎหมาย และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังหวังให้มีกองทุนธนาคารปูม้าทั้งอ่าวไทย และอยากให้ วช.ประสานความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการเรื่องการต่อรองราคาจำหน่ายปูม้า เพื่อให้ชุมชนอยู่รอดได้โดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ ด้วยเหตุที่งบประมาณหมด โครงการชุมชนก็จบไปด้วย
จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น