อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เป็นชาวจังหวัดเชียงราย ได้รับทุนเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จบปริญญาโทจิตรกรรม อนุสาวรีย์ผังเมือง ปริญญาเอกสาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลป กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ ได้รับเชิญเป็นศิลปินพำนักที่ประเทศเยอรมนี อังกฤษ สหรัฐฯ อิสราเอล สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ตุรกี ออสเตรีย
ทำโครงการสร้างบ้านดำ สี่สิบหลัง ที่ตำบลนางแล เชียงราย เพื่อให้เป็นมรดกศิลป์ของชาติ ด้วยการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ มีคนเข้าชมวันละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคน
เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม), ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร, รางวัลอาร์ตแอนด์คัลเชอร์ และรางวัลเกียรติยศอีกจำนวนมาก
...ย้อนอดีต เชียงรายอยู่ไกลปืนเที่ยง ผมเกิดมาในสองวัฒนธรรม พ่อมาจากกรุงเทพฯ พูดภาษาภาคกลาง แม่เป็นลูกกำนัน พูดภาษาเหนือ แม่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่เป็น แต่สิ่งทดแทนคือมีความทรงจำพิเศษ ผมจึงได้ความทรงจำที่เป็นเยี่ยมจากแม่ รู้จักคิด วิธีการโต้ตอบแบบคนภาคกลางจากพ่อ
ผมชอบภาษาศาสตร์มากที่สุด สมัยนั้นไม่มีการแนะแนวการเรียนการสอน อาศัยว่าผมเรียนดี ได้ทุนจนจบชั้นมัธยม จบแล้วจังหวัดมีทุนมาให้ 5 ทุน ทุนที่หนึ่งเป็นของลูกนายทหาร อีก 4 คน โรงเรียนเพาะช่าง โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ช่างกลปทุมวัน ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งงดงาม ผมพอมีฝีมือทางศิลปะอยู่บ้าง อาจจะพิเศษกว่าคนทั่วไปตรงที่คิดเป็น วาดเป็น คอยจังหวะเป็น สมัยนั้นผมวาดตามแบบหนังสือ ส่วนใหญ่เป็นหน้าปก พ่อรับหนังสือสยามรัฐ มีรูปภาพประกอบของเหม เวชกร นายตำรา ณ เมืองใต้ พ่อมีหนังสือเก่าๆ ที่ซื้อมาจากกรุงเทพฯ และครูวาดเขียนไปอบรมที่ศิลปากรเอารูปอิมเพรสชั่นนิสต์ให้ดู สีน้ำไม่มีขาย สมัยสงครามอย่างมากก็มีแค่ดินสอ เพิ่งมาหัดเขียนที่เพาะช่าง สิบเปอร์เซ็นต์มาจากสิ่งที่เราเรียกกันว่าพรสวรรค์ สิบเปอร์เซ็นต์เป็นพรที่เสาะแสวงหาของผมเอง
ผมศรัทธาในตัวพ่อมาก พ่อเป็นทหารแพ้สงคราม เมื่อปี 1975 เกิดกบฎ พระองค์เจ้าอลงกตเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ของพ่อ ถูกเกณฑ์ไปบวรเดช นำทหารกลุ่มพ่อผมจากโคราช เพื่อสู้กับจอมพล ป. ที่บางซื่อ ฝ่ายพ่อผมหรือบวรเดชแพ้ พ่อหนีไปอยู่พม่า บางคนถูกจับไปตะรุเตา พ่อมาสร้างครอบครัวใหม่ ผมเป็นลูกครอกที่สอง ตอนนั้นพ่ออายุ 47 ปี แต่งงานกับแม่อายุเพิ่ง 17 ผมอายุได้หนึ่งเดือน พี่ชายอายุ 20 ปี ที่เป็นลูกอีกครอกหนึ่งของพ่ออยู่ที่โคราช มาตามหาที่เชียงราย พ่อไม่เคยพูดถึงสิ่งที่พ่อจากมาเลย ผมก็ไม่ไปตอแยถาม เพราะเป็นเรื่องของความเจ็บช้ำ มันไม่ใช่เป็นแผลเป็น แต่มันเป็นแผลสดที่พ่อหลั่งเลือดชั่วนิรันดร์
ผมพูดภาษากลางกับพ่อ พอมีผู้ตรวจราชการมา เขาก็เอาเด็กที่พูดภาษากลางไปนั่งหน้า เผื่อคนเขาถามว่าอยากไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ไหม จะได้บอกว่า “ครับ” ทั้งที่ใม่รู้ว่ากรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน รู้แต่ว่าวันลูกเสือ ต้องหันหน้าไปทางพระบรมมหาราชวัง เวลาวางพวงหรีดจะหันหน้าไปทางทิศใต้ ตอนที่ผมอายุ 3 ขวบ มีคนบอกผมว่า “ตั้งใจเรียนให้ดีนะ วันแรกที่ไปเรียนกรุงเทพฯ จะเอารถไฟมาให้ ฉันจะต่อรถไฟจากเด่นชัย เข้ามาที่เชียงราย แล้วนั่งรถไฟเข้าถึงกรุงเทพฯ” ผมรอมา 64 ปีแล้ว ยังไม่มีเลย พอกับสนามบินหนองงูเห่า ผมถึงไม่เคยเชื่อ ปีนั้นผมถูกตัดค่าขนมจากสิบสตางค์เหลือห้าสตางค์ เพราะพวกผมไม่เคยเห็นปลาหมึก คิดว่าเป็นแผ่นแบนๆ เห็นแต่ปลาทูเค็ม ปีที่ผู้ว่า ผู้ตรวจ จอมพล ป.ขึ้นไป เขาเอาของสดใส่เครื่องบินไปให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กิน ก่อนจะกินก็พานักเรียนไปทัศนศึกษาให้เห็นว่าปลาหมึกเป็นแบบนี้ พอจอมพล ป. เห็นว่ามีปลาหมึกกิน มีเครื่องบินมาลง ก็เลยตัดเบี้ยกันดารที่ข้าราชการอย่างพ่อผมได้คนละ 30 บาทต่อเดือน จากที่ได้ค่าขนมสิบสตางค์ก็เหลือห้าสตางค์
นึกย้อนถึงวันที่ขึ้นรถไฟมาเรียนเพาะช่าง จากเชียงรายมากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในชีวิต จนถึงวันนี้มีที่สองสามร้อยไร่ เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งตรงที่ว่า มีความตั้งใจที่จะทำ ตอนมาไม่มีรถไฟนั่ง ต้องนั่งรถคอกหมู มีหมูอยู่ข้างล่าง มีไม้พาดให้นั่งข้างบนจากเชียงรายสองวันถึงลำปาง รอต่อรถไฟที่แล่นมาจากเชียงใหม่ นั่งจากลำปางอีกสองวันถึงกรุงเทพฯ มาที่วัดเบญจฯ แหล่งรวมชาวภาคเหนือ พระให้นั่งรถรางจากหน้าวัดไปลงที่พาหุรัด ผมไปโรงเรียน เขาบอกว่านอกจากไม่มีหอพักแล้ว ก็ไม่ใช่นักเรียนเพาะช่าง เป็นเด็กทุนจากต่างจังหวัด ให้ไปรายงานตัวที่กระทรวงศึกษา ประหลาดใจที่ครูบอกว่าเรียนได้เก้าสิบกว่าทำไมเข้าเพาะช่าง แสดงว่าเพาะช่างสำหรับคนที่ได้ห้าสิบจุดศูนย์ศูนย์หรือไง ผมไม่มีความภาคภูมิใจอะไรเหลือ ไม่ได้ตื่นเต้นกับความเป็นนักเรียนทุน แต่ไม่ได้น้อยอกน้อยใจอะไร เพาะช่างเป็นบรรยากาศของการเรียนรอบเช้า รอบบ่าย ที่จริงคนเรียนวาดเขียนควรมีจำนวนจำกัด ไม่ใช่รับเป็นพันๆ เป็นการค้ามากเกินไป
ผมตระหนักถึงสิ่งที่จะทำความเป็นเลิศให้แก่ผมว่าควรจะเป็นอย่างไร ผมเริ่มโตท่ามกลางคนกินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวผู้หญิง มีสังคม ผมอยู่คนเดียวตามตึกหลังนั้นหลังนี้ ร่อนเร่พเนจรไปเรื่อย ไม่รู้การแบ่งชนชั้น มารู้ตอนชุมนุมชาวเหนือที่วัดเบญจฯ คนที่มาจากวิศวะ สถาปัตย์จุฬา จะได้รับการยกย่องนับถือในระดับหนึ่ง จากเพาะช่างก็ถูกลดลงไป ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ถือว่าไม่ใช่ชนชั้นมันสมอง คนนั้นลูกแม่ทัพ คนนี้ลูกนายพล มีผมคนเดียวเป็นลูกตาปุ้นหญ้าช้างจากเชียงราย ผมไปที่ไหน คนถามชื่อสกุล พ่อแม่เป็นใคร เขาก็บอกว่า ไม่มีเชื้อไม่มีแถว
คนกรุงเทพฯ เขาจะรู้สายวงศ์ตระกูล ถ้าบอกว่า ดัชนี รู้สึกได้ถึงความรังเกียจ เช่นดียวกับบอกว่าจบจากเพาะช่าง แม่ผู้หญิงจะบอกว่า “ไม่จำเป็นก็อย่ามาคบกับลูกสาวเลยนะ เธอคงเขียนแค่หน้าโรงหนัง หรือเป็นครูเงินเดือนน้อยนิดเดียว จะดูแลลูกสาวของฉันได้ยังไง ถ้าเห็นแก่อนาคตลูกฉันก็เลิกติดต่อกันเถอะ” ผมก็หนีหน้าไปเลย ตอนหนุ่มๆ ผมเรียนหนังสือเป็นบ้าเป็นหลัง ไม่ได้เขียนรูปเพื่อได้เอหรือบี ผมเขียนเพื่อความเป็นเลิศ ผมเป็นคนรวยรูป เรียนหนังสือดี มีผู้หญิงวิ่งดักหน้าดักหลัง แต่พอไปบ้านเขาทุกครั้งก็จะได้รับคำพูดจากแม่ผู้หญิง จึงอยู่คนเดียวโดดๆ มาตลอด ไม่เคยไปยุ่งกับใคร
ดูเหมือนสิ่งนี้ทำให้ผมคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า อย่าเห่อเหิม แต่ต้องทะเยอทะยานในการเสาะแสวงหาความรู้ อยู่ที่เพาะช่าง ผมอยู่ใกล้ขุมกำลัง เดินไปสิบก้าวทางขวา ถึงบริทิช เคาน์ซิล อ่านหนังสือตั้งแต่สี่โมงถึงหกโมงเย็น เลี้ยวไปสักกิโลก็ถึงเอยูเอ ราชดำริ เลยออกไปอีกช่วงถึงตึกฝรั่งเศส อีกสองช่วงถึงตึกเยอรมัน ไปอีกหน่อยตึกญี่ปุ่น ผมอยู่ที่เพาะช่างสามปี ไปเขียนสีน้ำที่วัดโพธิ์ วัดพระแก้วแทบทุกวัน ไปรอตรงฤาษีดัดตนกว่าจะเข้าไปข้างในโบสถ์ เห็นเขาเขียนกลอนไว้ว่าฤาษีชื่ออะไรบ้าง มาจากไหน ถ้าเบื่อประตูนี้ก็ไปคอยอีกประตูหนึ่ง ก็เลยจำได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นตำราดูหมา ดูแมว พวกนี้เป็นทุนดั้งเดิมตั้งแต่สมัยเรียน แต่ต้องคอยระมัดระวังใจกายอย่าให้รวยเกินขอบเขต ถ้าเราเป็นคนฝีมือดีจะมีรุ่นพี่มาหาครูใหญ่ให้ส่งไปช่วยงาน ถ้าไปทำได้เงินแล้วหลงกับตรงนั้น การเรียนก็ตก
ผมเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ คิดว่าถ้าเรียนเพาะช่างมันคงจะแคบตีบตัน สมัยนั้นยังไม่ประสาทปริญญาให้มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมเห็นรุ่นพี่ตั้งใจเรียนอย่างเข้มข้นเพื่อศึกษาศิลปะวิทยาจริงๆ ผมหมั่นตามรุ่นพี่ไปดูงาน ตอนอยู่เพาะช่างปี 2-3 ผมมีฝีมือล้ำเลิศ จะให้เขียนเหมือนใครผมก็เขียนได้ แม้แต่ครูบาอาจารย์ยังไม่รู้ว่าผมปลอม อาจารย์ชมว่าดีหมดทุกอย่างยกเว้นยังหายใจไม่ได้ แต่ก็ยังไม่พอสำหรับผม
ผมบอกทางจังหวัดว่ายังไม่กลับมาเป็นครู ขอเรียนต่อศิลปากร มีทั้งหมดหกสิบคน เขาคัดไว้สี่คน ไปทำปริญญา ผมเป็นหนึ่งในสี่ อยู่ปีสี่ ไปเรียนภาษาอิตาเลียนที่จุฬาฯ อาจเป็นเพราะผมมีพื้นทางภาษาจากพ่อแม่ และโรงเรียนสามัคคีวิทยาคมก็จัดเป็นอินเตอร์ มีพวกกะเหรี่ยง ขมุ อีก้อ จีน ฮ่อ มีสามสิบชาติในเชียงราย ก่อนจบหนึ่งปี มีทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ คนสมัครหกร้อยคนเอาห้าคน ที่น่าภูมิใจ ผมได้เป็นอันดับหนึ่ง
ผมไปเรียนที่เนเธอร์แลนด์ ไม่ถือว่าผมประสบความสำเร็จสักอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ผมเรียนรู้เฉียบขาดหมดทุกอย่างอยู่ที่ศิลปากร อาจารย์สอนจนหมดภูมิ ไปจากประเทศโลกที่สาม แทนที่จบตรีให้เรียนโท เขาให้เรียนป.หนึ่งใหม่ เรียนอยู่สามเดือนก็สำแดงให้เห็นว่าผมมีความรู้ขั้นพื้นฐาน เขาให้ผ่านขึ้นไปอยู่ชั้นบน โรงเรียนนั้นสำหรับคนร่ำรวย มีนางแบบนายแบบส่วนตัว มีสี มีผ้าใบให้ ผมมีหน้าที่เขียนรูปไปเรื่อยๆ
สมัยก่อนหัวจรดเท้าเป็นฝรั่งหมด คิด เขียนรูป ตัดสินใจแบบฝรั่ง เรเนซองค์เสียด้วย ผมได้ค่าแต่งตัว ก็แต่งสูทแบบฝรั่ง หล่อเหลา ภาษาร่างกายตอนที่ผมยังเป็นนักเรียนที่โน่น เนี้ยบมากมาดูทุกวันนี้ยังนึกหัวร่อตัวเองไม่ได้ว่า “ไอ้ห่า...กูก็เคยเป็นอย่างนี้ด้วยหรือ”
ตอนนั้นผมอายุ 23 ปี ระหว่างรูปแบบกับเนื้อหาคืออะไร คิดไม่ออก โรงเรียนบ้านเราเขาสอนแต่ฝีมือเชิงช่าง ไม่ได้สอนให้รู้จักวิธีคิด กว่าจะมาคลำว่าอะไรที่เป็นแบบตะวันออก แทบตาย ผมเอาลักษณะตะวันออกมาใช้ เป็นทั้งตัวผม เป็นทั้งตะวันออก ทั้งไทยมารวมกัน ทำให้เริ่มพบแนวทางบางอย่าง ปีต่อมาได้รับรางวัลของโรงเรียน ไปดูงานต่างๆ ผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องโรแมนติคนิซึ่ม ไม่ทำสกุลช่างดัช ผมเห็นว่าคนทำกันหมดแล้ว ก็ย้ายหน่วยกิตไปลงที่ฝรั่งเศส ผมจึงเป็นนักเรียน เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี พูดได้หมดทุกภาษา
สิ่งที่จะนำเสนอว่าพวกนี้คือหัวใจของจิตวิญญาณ ของความเป็นตะวันออก อย่างที่ผมนำเอาความเร็ว ความแรงและอารมณ์ที่ใส่ไปในรูป จะไม่มีฝรั่งที่ไหนทำ บางคนเปลี่ยนวูบเปลี่ยนวาบเลยไม่พบกับตัวเอง ผมปลูกบ้าน 40 หลังในเนื้อที่สามร้อยไร่ที่เชียงราย ไม่ใช่ความเป็นตะวันออกอย่างเดียว มีความเป็นไทยด้วย ผมไม่อยากทำที่ฝรั่งทำ ขณะเดียวกันก็ไม่อยากทำอะไรที่คนไทยทำเมื่อร้อยปีที่แล้ว อยากเอาของไทยที่ร่วมสมัย ผมเกิดและเติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมแรกคือล้านนา ที่สองผมมาจุ่มในวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ ที่สามไปจุ่มในวัฒนธรรมเรเนซองค์ ที่สี่กลับมาสู่วัฒนธรรมของเอเซีย ที่ห้าจุ่มในวัฒนธรรมของอเมริกา ที่หกสร้างโลกของผมเอง ถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของความสำเร็จ ไม่หมือนกับความสำเร็จขั้นรากหญ้าทั่วไป
ผมไม่เคยมีความฝัน ผมเป็นลูกทหารที่แพ้สงคราม พ่อเคยบอกเสมอว่า ฝันที่แท้จริงคือตื่นขึ้นมาพร้อมกับกลางวันอันแจ่มจ้า อยู่ท่ามกลางความแจ่มกระจ่างของทิวาวาร นั่นคือความฝันที่ลึกซึ้งกว่าที่จะฝันขณะหลับแล้วนึกจะเป็นโน่นเป็นนี่ จงต่อสู้เพื่อได้ชัยชนะ ผมต้องเก็บงำเอาเมล็ดพืชพันธุ์อันนี้ไว้
ผมรักวาดรูปมันแรงยิ่งกว่าเหตุผลใด ผมถึงได้ทิ้งบ้านที่อยู่อาศัย ทิ้งผู้หญิงที่เคยรัก ทิ้งทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ แต่ผมจะพูดไม่ได้ถ้าสิ่งที่ทำยังไม่ประสบความสำเร็จ ผมก็พูดจาเลี้ยวลดปดเปื้อน โกหกตอแหลไปก่อน จนกระทั่งถึงวันที่ผมไม่อยากพูดว่า ดุจเดียวกับอัญมณีอมตกาล จะไม่โอ้อวดในวันจำนวนปีอันยาวนาน ขอให้ดูเฉพาะจุดพร่างในคู่ขณะตน ที่เปล่งแสงระยิบ เวลาที่ผ่านไปชั่งมัน ดูกูในขณะปัจจุบันว่ากูทอแสงแวววาวขนาดไหน ไม่พูดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่พูดถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึง พูดถึงในขณะนี้เรากำลังทำอะไรให้กับตัวเอง ประเทศชาติ แก่โลก มนุษยชาติ อย่างนี้ต่างหากที่ทำให้รู้สึกว่าเรามีคุณค่า
ผมก็เหมือนกับ ปิกัสโซ ชาวสเปน มีวิธีคิดที่ไม่เหมือนคนอื่น ปิกัสโซจากบ้านมาปารีส ตั้งแต่อายุ 17-18 ต้องกินขนมปังที่ถูกที่สุดทำด้วยขี้เลี่อย เขียนรูปด้วยสีเดียว สีน้ำเงิน เขียนจากความเศร้าสลดของเขาที่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจากบ้าน จากคนรักที่รักกันมาก ขอให้เธอรอจนกว่าเขาประสบความสำเร็จแล้วจะมารับ ถึงเขาจะมีฝีมือล้ำเลิศก็เป็นแค่ช่างฝีมือ อีกสิบปีผ่านไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หญิงคนรักก็แต่งงานไปกับพ่อค้าทำรองเท้าที่มีชื่อเสียง ปิกัสโซโบกรถกลับไปดูคนรักกำลังแต่งงาน เขาบอกว่า “เธอจำเอาไว้นะ ถ้าฉันมีชื่อเสียงเมื่อไร จะไม่มีวันมองหน้าเธอเลย ฉันลบภาพเธอออกจากความทรงจำ จะไม่รู้จักเธออีกเลย” ต่อมาเกือบสิบห้าปี เขารู้จักกับอกุสไตน์ บุคคลที่แจ้งให้เขาเกิด เวลาผ่านไปอีก 47 ปี ปิกัสโซมีชื่อเสียงมาก สามีคนรักเก่าตาย ขายหุ้นรองเท้าจนเงินหมด มาเช่ารายการทีวีเอาจดหมายรักที่ปิกัสโซเขียนถึงมาอ่าน เป็นที่ฮือฮามาก คนถามปิกัสโซว่าจริงไหม เขาตอบว่า “อย่าไปเชื่อผู้หญิงคนนี้ ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยรู้จัก”
เช่นเดียวกับผมเมื่อก่อนมีชื่อเสียงระดับพื้นบ้านพื้นเมือง จนกระทั่งวันดีคืนดี ได้รู้จัก อาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านมีส่วนช่วยค้ำจุน ค้ำชู ซื้อรูปของผม เขียนวิจารณ์ เปิดงานให้ผม ท่านบอกว่า คนนี้เป็นคนยิ่งใหญ่ที่สุดของแผ่นดิน ผมถือว่าอาจารย์คึกฤทธิ์คืออกุสไตน์ของปิกัสโซ ผมพบเหตุการณ์เช่นเดียวกัน แต่สิ่งยิ่งใหญ่ของชาวพุทธคือให้อภัย ทำให้เราไม่บาดหมาง ไม่ระคายอารมณ์ เจ็บแค้นแต่ระงับได้ อดทนแต่ไม่ใช่หน้าบึ้งตึง เรามีหิริและโอตัปปะ ไม่เพียงเรียนเขียนอ่าน เวลานั่งเครื่องบินผมไม่เคยโยกหน้าโยกหลัง ไม่เคยกดปุ่ม ไม่ขออะไรทั้งสิ้น ไม่กินไม่ดื่ม ผมนั่งตัวตรงจากบ้านถึงที่นี่ จนกระเป๋าเครื่องบินบอกว่า ถ้านั่งอย่างนี้ทำไมมานั่งชั้นหนึ่ง น่าจะไปนั่งชั้นสาม นั่งบนลังกุ้ง ลังลิ้นจี่ ลังมะขามเปียกอบแห้งดีกว่า ผมบอกว่าไม่ต้องการวุ่นวาย เดี๋ยวต้องปรับพนักเก้าอี้ให้ตรง ปิดหน้าต่าง รัดเข็มขัด ผมเอาแค่รู้จักนั่งนอนยืนเดินหายใจออก รู้เหตุรู้ผลรู้ตนรู้ประมาณรู้กาลเวลา แค่นี้รบร้อยครั้งก็ชนะทั้งร้อย
ผมได้รับคำชมในผลงานทั่วทุกสารทิศ ผมเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่วันนี้ ขณะที่กำลังตั้งรูป เจ้าของร้านและเด็กเสิร์ฟกาแฟชาวญี่ปุ่นที่แอลเออาร์ทคอร์ มายืนดูแล้วถามว่าของใคร พอรู้ว่าเป็นของผม ก็ยกนิ้วให้แล้วบอกว่า “กู้ด กู้ด” พูดแค่นี้ผมถือว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ระดับผมไม่ต้องการคำชมแล้ว ผมขึ้นบนแท่นรับคำชมตั้งแต่อายุสามขวบ ตอนสงครามโลก แม่เอาผมไปวัดด้วยทุกวัน ไปวางไว้ตรงศาลาวัด วันไหนฝนตกผมก็เอาถ่านเขียนกำแพงไปเรื่อย วันไหนฝนไม่ตกก็เอาไม้ขีดพื้นทราย พอพรรษาผ่านไป ผมเขียนรอบวัด พระลงมาเห็นร้องโอ้โฮ บอกแม่ว่า “เลี้ยงดีๆ นะ วันหน้าจะเป็นเหม เวชกร” เท่ากับเป็นงานแสดงวันแมนโชว์ครั้งแรก
ที่จะว่าฝีมืออย่างผมฟ้าส่งมาเกิด แม่บอกว่าผมชิงหมาเกิด คิดว่าความเป็นธรรมดาของผมก็คือ ไม่หยิ่งผยอง ไม่ลำพอง ไม่หลงตัว ทุกอย่างเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เราฝึกหัดมา มุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นแล้ว เราได้มาแล้ว เราถึงแล้ว ก็สงบ ระงับได้ คิดว่าไม่มีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น
ผมมีลูกชายคนเดียว ไม่ได้เป็นศิลปิน ตอนเรียนปริญญาตรีก็ลองทำเหมือนกันแต่คงรู้ว่าไปไม่รอด มันไม่มีฝีมือล้ำเลิศขนาดพ่อมัน ความคิดความอ่านก็ไม่เลิศล้ำ แต่ไม่ใช่ความผิดของมัน น่าจะเป็นบทบาทของโลกว่า ถ้าพ่อเก่ง ลูกจะเก่งกว่าพ่อไม่ค่อยมี ลูกของผมเป็นเด็กธรรมดา เรียนปริญญาโททางด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ที่ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ผมกำลังจะส่งมาเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา
ความรู้สึกของลูกที่มีพ่ออย่างผม เป็นความกดดัน ไม่กล้าแม้แต่จะบอกความรู้สึกของมันกับผม น้ำหนักของผมกดทับตลอดเวลา ไปไหนจะไม่มีตัวตน คนจะพูดแต่ว่า “นี่ลูกถวัลย์” ลูกของผู้ยิ่งใหญ่ทุกคนจะถูกน้ำหนักกดดันของพ่อ ลูกผมเฝ้ารอและพยายามที่จะฉีกแนว หนีห่างจากหนทางที่ผมทำไว้ ไปทำสิ่งที่ผมไม่เคยทำ ผมขว้างมีดขว้างขวาน มันก็เป็นนักรบนินจาเข้าสมาคมนินจากับพวกญี่ปุ่น ไปฝึกยูโดสายดำ ส่วนผมเล่นคาราเต้ แต่โดยสายเลือดในที่สุดก็เวียนกลับมาวาดภาพบ้าง ทั้งที่รู้ว่าไม่น่าจะเป็นไปได้
ผมใช้วิธีสอนลูกแบบไม่สอน ไม่ใช้วิธีแบบโจ่งแจ้ง จะสอนอยู่ห่างๆ แต่ทำให้ดู ให้จดจำพฤติกรรม อย่างพวกคนงานที่ทำบ้านผม มันเมาเหล้าทุกวัน ผมไม่ไปบอกว่าอย่ากินเหล้า อย่าสูบบุหรี่ อย่าซื้อหวย แต่ผมทำเป็นตัวอย่างให้ดู ทุกอย่างโลว์เท็ค บ้านที่อยู่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีทีวี คนงานของผมมีทุกอย่าง ผมใช้ชีวิตให้ลูกดู ไม่ต้องมาเที่ยวสอน ผู้ปกครองที่ดีที่สุดคือผู้ปกครองแบบไม่ปกครอง ยิ่งไปสอนเขาจะรู้สึกว่าเราไปก้าวก่าย นอกจากมันคิดอะไรไม่ได้มาถามก็บอก
ผมไม่เคยแสดงความรัก แสดงเพียงแต่ว่าเป็นหน้าที่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แม่มันเป็นกระเป๋าเครื่องบิน ลูกครึ่งจีนกับดัช มันตกลูกให้ผม พอลูกอายุสามอาทิตย์ก็กลับบ้านไป ผมก็เอาลูกชายไปอยู่กับแม่ผม มันเห็นแม่อีกครั้งอายุสามขวบ ครั้งสุดท้ายอายุหกขวบ แล้วแม่มันก็กลับต่างประเทศ จากวันนั้นจนถึงอายุ 29 ปี ไม่ได้เห็นแม่อีกเลย ตอนที่อายุ 25 ไม่รู้ใครโทรมาหามันบอกว่าเป็นแม่ มันถามว่าแม่คืออะไร ตลอดเวลาที่เป็นนักเรียน ถึงวันแม่ เอาหญ้าแพรกดอกมะเขือไปไหว้แม่ปลอม ครูฝึกสอนบ้าง นักเรียนเอเอฟเอสบ้าง ผมเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ทั้งหมด แต่ผมก็ไม่เห็นมันรู้สึกอะไร ดูสนุกสนานดี
จะเรียกมันว่าเป็นทายาทคนเดียว ไม่ใช่หรอกนะ มันเป็นลูกชายเลวๆ ดีตรงที่ไม่เกเร คงเป็นเพราะสายเลือด อีกอย่างที่ผมห้ามไม่ได้ มันยังเป็นอยู่คือชอบความเร็ว ขับรถเร็ว ประสบอุบัติเหตุชนกันแหลกลาญ เข้าโรงพยาบาลเย็บสามร้อยเข็ม นอนอยู่สามเดือนจนกลายเป็นมนุษย์โรโบค็อฟ แต่ก็ไม่เข็ดหลาบ ทุกวันนี้ก็เหมือนเดิม ผมเคยบอกว่า “สงสัยมึงจะต้องมีอาชีพขับมอเตอร์ไซร์ไต่ถัง อีกหน่อยกูจะสร้างถังให้ เอาฮาเลย์ขึ้นไปไต่” ผมเห็นมันชอบไม่กี่อย่าง ผมชอบมีดกับขวาน มันชอบดาบ ไปหลอมดาบซามูไรกับผม มีอย่างหนึ่งที่คนเขาว่ากันว่า มันเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ สูง 185 เป็นนายแบบของห้องเสื้อ พวกสาวๆ พวกตุ๊ด เห็นก็กรี๊ดสลบ มันมีชื่อจริงว่า ดอยธิเบศร์ แปลว่าที่พึ่งแห่งภูเขา ชื่อเล่น ไอ้ม่องต้อย เป็นชื่อของผีบ้าคนหนึ่งอยู่เชียงราย ผมประทับใจมาก จำไว้เลยว่าถ้ามีลูกชายจะตั้งชื่อว่าไอ้ม่องต้อย ที่ชื่อธิเบศร์เพราะผมชอบโคลงฉันท์กาพย์กลอนของเจ้าฟ้ากุ้ง ผมเอาดอยไว้เพื่อให้นึกถึงว่ามันเกิดทางเหนือ เล็กๆ ไปโรงเรียนมันอายเขา ขอชื่อ ดอย ดัชนี เฉยๆ บอกคนล้อเลียน ผมไม่ยอม แต่เดี๋ยวนี้มันชอบ
ผมถือว่ามันมีกรรม เป็นทุกขลาภ ผมมีบ้านหลายสิบหลังที่เชียงราย ที่กรุงเทพฯ อีกสามหลัง การดูแลบ้านผมทำได้ที่มีสตางค์ ผมตายแล้วมันจะไปเอาเงินที่ไหนมา มันอาจต้องขายโน่นขายนี่ อาจจะต้องเก็บสตางค์ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ กว่าผมจะตายอาจสร้างอีกสิบหลังก็ได้ ครั้งหนึ่งมันให้สัมภาษณ์หนังสือจีเอ็ม เขาถามว่า “พ่อเขาสร้างบ้านให้เยอะแยะ เป็นทุกขลาภให้กับน้องไหม ถ้าพ่อตายแล้วจะทำยังไง” มันตอบว่า “ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องรอให้ตายหรอกครับ ยังไม่ตายผมก็จะขายให้หมด”...
พูดถึงความรักของผมที่มีต่อผู้หญิงเยอะมาก ผมเป็นจิตรกร บางทีความรักที่เกิดขึ้นเพราะหลงรูป บางคนรูปกายไม่สวย พูดจาไม่รู้เรื่องแต่เป็นคนรูปงาม มีเลือดเนื้อที่เคลื่อนไหว ผู้หญิงบางคนไม่สวยแต่ฉลาดปราดเปรื่อง เหมือนพระอภัยได้นางวาลี บางทีผมมีผู้หญิงที่โต้ตอบกันได้ทุกอย่าง พูดถึงปรัชญา บทกวีที่ลึกซึ้ง ฉะนั้นคนที่สวยผมก็มี คนที่ฉลาดปราดเปรื่องผมก็มี บางคนร่างกายงดงาม บางคนเป็นนักดนตรี ผมก็เป็นนักดนตรีด้วยเหมือนกัน ตอนหนุ่มเล่นกีตาร์โปร่ง แต่ขืนเอาเวลาไปทุ่มเทกับดนตรี คงไม่แคล้วมาเล่นให้ต้นไม้พลาสติคฟังตามมุมห้อง มุมตึก
ผมไม่เคยชอบใครจริงๆ ผู้หญิงจะเห็นว่าผู้ชายเป็นทุกอย่างในชีวิต สำหรับผู้ชาย ผู้หญิงเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ว่ารักความก้าวหน้าไปสู่มหาวิหารของความสำเร็จเป็นที่สุดของมัน ถ้าผมไปไม่ถึงตรงนั้นจะไม่มีวันเหลียวหลังกลับ ผมคือมนุษย์ที่จะต้องไปให้ถึงให้ได้ ถ้าผมถือปืนเพื่อล่าช้างเอางา ผมจะไม่ยิงกระรอก กระแต เมื่อถึงตอนนี้เท่ากับผมเดินกลับจากมหาวิหารมาสู่หลุมฝังศพ ผมขว้างปืนทิ้ง สนใจแต่ที่บูชาริมบาทวิถี ที่ให้ความพิศวงแก่ผมทุกมุมเลี้ยว ผมไม่มีเป้าหมายปลายทางที่จะไปถึงที่นั่นที่นี่อีกแล้ว
และเม็ดทรายแรกที่เข้าไปในเปลือกหอยของผม ในเทวาลัยน้ำตาได้กลายเป็นไข่มุกเป็นเวลาอันช้านาน ผมไม่นึกย้อนทวนหวนฝืนมาเศร้าใจ ดีใจและพอใจกับสิ่งที่ผ่านมา แต่ความเป็นมนุษย์ก็รู้สึกเจ็บแสบแปลบปลาบบ้างเหมือนกัน...
“....... ฝนห่าแก้ว หลั่งชะโลมบนแผ่นใจ เก่าแก่ผากแห้ง ในสนธยากาลของชีวิต ข้ากำลังจะข้ามฟากไปฝั่งหน้า ขอมอบทับทิมเลือด ที่ตกผลึกรายล้อมด้วยน้ำตา จากเทวาลัยโทมนัส แก่เธอ ผู้ตระหนักว่าข้าบกพร่อง หากรัก ในวิหารแห่งดวงตะวัน ให้ข้าวางอัจกลับการสร้างสรรค์ โปรดอย่าทุ่มเถียงวิวาทะว่า เปลวไฟของข้าจะอยู่ยืนยงหรือไม่” (เชียงราย ต.ค. 2547)
“บทเพลงสุดท้าย ในริ้วขบวนชีวิต ข้าได้ร่ำบรรเลงอำลา และข้าจะจางจากไป เมื่อตะวันลบแสงดาว ก่อนค่ำให้ข้าขับเพลงสุดท้ายของชีวิต ช่วยเปิดดวงตารัตติกาล และปิดเปลือกตาให้ข้า แต่อย่าลบรอยยิ้มของข้าเลย ข้าขออำลา และหลีกเร้นริ้วขบวนชีวิต ไปสู่เชิงตะกอน เงียบเชียบ ปรบมือโปรยดอกไม้ เป็นบรรณาการแก่งานของข้า กระหึ่มก้อง โกญจนาท ไปทุกโตรกธารละหานห้วย” (ถวัลย์ ดัชนี พ.ย. 2547)
ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน โดย ... วัลลภา ดิเรกวัฒนะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น