สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ชู 3 กลไก ส่งเสริมนักวิจัยพัฒนาผลงาน พร้อมจัดประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น มุ่งใช้งานได้จริง
ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ในฐานะเลขานุการร่วม สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวนช. ได้จัดประกวด ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 ถือเป็นงานใหญ่ที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อรวบรวมผลงานประดิษฐ์คิดค้น ของนักวิจัยไทยในด้านต่าง ๆ ซึ่งปีนี้มุ่งเน้นงานวิจัย ที่สามารถนำไปขยายผลและใช้งานได้จริง โดยมีผลงานร่วมประกวดกว่า 150 ผลงาน ใน 9 สาขา ผลงานสำคัญส่วนใหญ่ เป็นงานวิจัยทางด้านการแพทย์ เนื่องจาก ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยที่ไม่สามารถทำงานช่วยเหลือตัวเองได้ หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง จึงต้องอาศัยอุปกรณ์ สิ่งประดิษฐ์คิดค้น ช่วยเหลือเพื่อให้ฟื้นฟูได้เร็วขึ้น เช่น เครื่องพยุงยืนและฝึกเดินเซฟวอร์ค ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยฟื้นฟูการลงน้ำหนัก ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยที่มีปัญหาในการเดิน สามารถควบคุมตัวในการย่างก้าวและพัฒนาได้เร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังพบผู้สูงวัยไทยมีปัญหา หลังค่อม หากดูแลไม่ดีพออาจนำไปสู่ ภาวะการล้มและกระดูกคอหักได้ง่ายขึ้น จึงมีสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งประกวดเป็นอุปกรณ์วัดกระดูกสันหลังค่อมในการช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ วินิจฉัยภาวะกระดูกหลังค่อมได้เร็วขึ้น โดยผ่านระบบ Application เพื่อแนะนำการปฏิบัติตัว เป็นต้น ทั้งนี้ ผลงานที่ ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล จะมีพิธีมอบในงาน "วันนักประดิษฐ์" วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
เลขาธิการ วช. ยังกล่าวถึงงานวิจัยขึ้นหิ้ง หรือสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ยังไม่มีการพัฒนาต่อยอดหรือขยายผล ว่า ขณะนี้มี 3 กลไก ที่สนับสนุนนักวิจัยในการพัฒนางานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้น ให้สามารถ นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง คือ
1.การขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ เนื่องจาก พบผลงานวิจัยที่จะนำไปใช้งานจริง มักมีปัญหาเรื่องการยอมรับ การพัฒนาด้านความปลอดภัยและมาตรฐาน ซึ่งจะมีทุนให้นักวิจัยเพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งปีนี้ได้ตั้งงบประมาณเพิ่มเติม ในบัญชีสิ่งประดิษฐ์ ประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผลงานวิจัยต้นแบบ ที่มีปัญหาข้างต้นให้สามารถพัฒนาจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์หรือเชิงพาณิชย์ได้
2. รัฐบาลเพิ่งประกาศนโยบาย ที่จะให้หน่วยงานของรัฐ ซื้อผลงาน ซึ่งเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น เพื่อเปิดตลาดให้กับนักวิจัยของประเทศไทย
3. การใช้ระบบ Government procurement ส่งผลให้การใช้งานต่าง ๆ ในการขายหรือการเปิดตลาดใหม่ ในช่วงเริ่มต้นสามารถทำได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบกฎหมายการให้สิทธิหน่วยงานผู้ทำวิจัย ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน จากงบประมาณของรัฐ ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งนักวิจัย ผู้มีส่วนร่วมในผลงานวิจัยนั้น จะได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน หรือรายได้ที่เกิดขึ้นจากการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วย
จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น