ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก .. โดย ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียน เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัย คริสเตียน ได้สุ่มสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรู้เรื่องไข้เลือดออก ที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม จำนวน 1,481 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นหญิง ร้อยละ 51.9 และชายร้อยละ 48.1 กลุ่มอายุ 31-40 ปี มากที่สุดร้อยละ 37.8 มีสถานภาพสมรส ร้อยละ 40.2 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 97.4 ระดับการศึกษาปริญญาตรีมากที่สุด ร้อยละ 36.6 ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของกิจการ/ค้าขาย/ มีธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 32.1 เป็นนักเรียน/นักศึกษาร้อยละ 31.8 และเป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 23.8
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง
ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.2 มีความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกมากถึงปานกลาง และร้อยละ 37.8 มีความวิตกกังวลน้อย กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 76.4 มีการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับไข้เลือดออก กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.0 มีความเห็นว่า ไข้เลือดเกิดกับบุคคลทุกกลุ่มอายุ ร้อยละ 47.8 เห็นว่า ไข้เลือดเกิดกับเด็กอายุ 5-10 ปี และร้อยละ 37.6 เห็นว่า ไข้เลือดเกิดกับเด็กเล็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี
นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 47.6 มีความเห็นว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หน้าแดง ร้อยละ 41.9 มีความเห็นว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ร้อยละ 31.2 มีความเห็นว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออก มีอาการไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ร้อยละ 27.2 คิดเห็นว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีไข้สูง และมีเลือดออกจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย และร้อยละ 22.1 มีความเห็นว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 40.1 มีความเห็นว่า ไข้เลือดออกเกิดจากการถูกยุงลายกัด และร้อยละ 32.4 มีความเห็นว่า ไข้เลือดออกเกิดจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
สำหรับวิธีการป้องกันดูแลไม่ให้คนในครอบครัวเป็นไข้เลือดออกนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.2 มีความเห็นว่า ควรกำจัดแหล่งน้ำขังในบ้าน และร้อยละ 57.8 เห็นว่า ควรป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดในเวลากลางวัน ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับความตื่นตัวของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันและดูแลรักษาผู้ที่ป่วยด้วยไข้เลือดออกนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.4 เห็นว่า รัฐบาลมีความตื่นตัวค่อนข้างมาก และร้อยละ 47.0 เห็นว่า รัฐบาลมีความตื่นตัวปานกลาง กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 81.1 เห็นว่า ควรกระทรวงสาธารณสุขควรเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไข้เลือดออก และร้อยละ 67.2 เห็นว่า สถานศึกษาควรเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไข้เลือดออก และกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 60.4 เห็นว่า ควรจัดโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไข้เลือดออกให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 50.3 เห็นว่า ควรแจกทรายอะเบสให้ประชาชน
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกนั้นจะมีไข้สูงอยู่ประมาณ 2-7 วัน จะปวดเมื่อยไปตามตัว มีจุดแดงๆ ตามลำตัว แขน ขา ปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและเบื่ออาหาร และสำหรับคนที่มีอาการรุนแรงนั้นมือเท้าจะเย็น กระสับกระส่าย และไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกส่วนใหญ่มักจะพูดคุยไม่รู้เรื่อง หากไม่ได้รับการรักษาการช็อกภายใน 12-24 ชั่วโมง ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีคนในครอบครัวป่วยด้วยอาการมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาเชื้อไข้เลือดออกและให้การรักษาก่อนที่จะมีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต
นางสาวชนาธิป พึ่งดอกไม้ ปชส. มหาวิทยาลัยคริสเตียน
เรวัติ น้อยวิจิตร สุพรรณบุรีนิวส์ rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น