วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นครปฐม MOU 40 หน่วยงาน " สามพรานโมเดล " ฟื้นเกษตรอินทรีย์ ยั่งยืน





                40 หน่วยงานในจังหวัดนครปฐมร่วมลงนามความร่วมมือ ในโครงการนครปฐมโมเดล ฟื้นชื่อเสียงแหล่งปลูกผักผลไม้คุณภาพดี ก้าวข้ามการใช้สารเคมี สู่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน




                  วันที่ 20 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นายมนู สร้อยพลอย นายอำเภอสามพราน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครปฐม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การบริหารส่วนตำบล 17 ตำบล สถาบันการศึกษา และภาควิชาการ ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในโครงการสามพรานโมเดล เพื่อร่วมกันก้าวข้ามการใช้สารเคมี สู่การทำเกษตรเกษตรอินทรีย์ และร่วมผลักดันต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยเฉพาะผู้บริโภค ได้เห็นถึงความสำคัญถึงพิษภัยของสารเคมี และหวังพลิกฟื้นชื่อเสียงแหล่งปลูกและจำหน่ายพืชผักผลไม้คุณภาพดี โดยมีนายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ปรึกษาโครงการสามพรานโมเดล ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี

           

                  นายมนู สร้อยพลอย นายอำเภอสามพราน กล่าวว่า อำเภอสามพรานเป็นพื้นที่เพาะปลูกและจำหน่ายผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ เป็นที่ยอมรับถึงคุณภาพ แต่ด้วยปัจจุบันกระแสของการโฆษณาในเรื่องต่างๆ ทำให้เกษตรสำคัญผิดในเรื่องของการเพิ่มคุณภาพและปริมาณพืชผักผลไม้ด้วยสารเคมี ทำให้มีต้นทุนสูง มีการใช้สารเคมีในการเกษตรกันอย่างแพร่หลาย ทางอำเภอจึงได้ร่วมกับหลายภาคส่วนร่วมมือนำโมเดลที่เรียกว่าสามพรานโมเดลที่ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) มาใช้เป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานราชการ ท้องถิ่น พลังชุมชน เกษตรกร และนักวิชาการ ในการช่วยกันปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำเกษตรตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นตัวเกษตรกรผู้ปลูก เรื่องดิน เรื่องน้ำ ผลิตผล รวมถึงระบบการตลาด โดยทำแบบครบวงจร เพื่อให้การเกษตรของอำเภอสามพรานดำรงอยู่อย่างยั่งยืน




               ด้านนายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ และกรรมการผู้จัดการสามพรานริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า สามพรานโมเดล เกิดจากแนวคิดที่อยากได้ผัก ผลไม้ ที่เป็นอินทรีย์บริการกับลูกค้าที่มาใช้บริการของสามพรานริเวอร์ไซด์ จึงเริ่มต้นด้วยการปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่ 30 ไร่ ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำของโรงแรม เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตามห้องอาหาร แต่ยังไม่เพียงพอ ต่อมามีเกษตรกรบางส่วนในพื้นที่ใกล้เคียงต้องการจะปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเคมีมาสู่อินทรีย์ แต่ยังขาดองค์ความรู้ และที่สำคัญที่สุดคือการตลาด จึงเข้ามาร่วมกับสามพรานริเวอร์ไซด์ เกิดขึ้นเป็นกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพราน พร้อมเริ่มทำตลาดทางเลือกให้กับเกษตรกร คือ ตลาดสุขใจ ซึ่งเปิดดำเนินการมาแล้วเกือบ 4 ปี จำหน่ายพืชผักอินทรีย์และอาหารปลอดภัย โดยการตลาดมีการตรวจสอบสารเคมีตกค้างเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ช่วงแรกตลาดยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ปัจจุบันมีคนเดินทางมาประมาณวันละ 1,000 คน เปิดขายเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2.1 ล้านบาท 


                สำหรับสิ่งที่สำคัญมากในการทำเกษตรอินทรีย์ คือมาตรฐานที่ต้องการให้เกษตรกรได้ คือ มาตรฐาน IFOAM – International Federation of Organic Agriculture Movement ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรในโครงการฯ ได้รับรองมาตรฐานในปีนี้ประมาณ 30 ราย



















                 ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม  /  เรวัติ  น้อยวิจิตร   นสพ.พลังชน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น