วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

วช.ขยายเครือข่ายให้นักวิจัยเข้าถึงห้องทดลองมาตรฐานมากขึ้น




สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการและพัฒนาบุคลากร หวังส่งเสริมให้นักวิจัยเข้าถึงห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานมากขึ้น





ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งขาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติและการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยของประเทศ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.กับเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคกลาง ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร วันนี้ (18 พ.ค.60) ว่า การทำงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ หรือห้องทดลอง มีการดำเนินงานในหน่วยงานหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาก่อนแล้ว แต่ วช.พยายามผลักดันและส่งเสริมให้มีการทำงานในลักษณะเครือข่ายและมองระบบแบบองค์รวมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการส่งเสริมงานวิจัย ไม่ได้มองการทำงานเชิงรับรองมาตรฐานห้องทดลองควบคู่กับงานวิจัย 





ทั้งที่มีงานวิจัยที่ต้องผ่านกระบวนการในห้องทดลองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย และได้รับมอบหมายภารกิจการจัดทำมาตรฐาน เห็นว่า ห้องทดลองที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยมีความสำคัญกับงานวิจัย จึงพยายามผลักดันให้มีความเชื่อมโยงกันและส่งเสริมอย่างเป็นระบบ โดย วช. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฉบับกับเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคกลาง ประกอบด้วย บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง เครือข่ายวิจัยภูมิภาคด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง มหาวิทยาลัยแม่ข่ายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยของประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี 




ทั้งนี้ วช. ได้ใช้เกณฑ์มาตรฐานในห้องทดลองระดับสากลที่มีอยู่แล้ว มาพัฒนากระบวนการให้เกิดมาตรฐานการรับรองในระดับประเทศ และดึงความร่วมมือจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับห้องทดลองมาทำงานร่วมกันในลักษณะแม่ข่ายกับลูกข่าย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสถาบันการศึกษาในการทำงานวางระบบเพื่อมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ หรือห้องทดลอง ตามนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาของ วช. 





รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ห้องทดลองถือเป็นกลไกสำคัญในการทำงานวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข รวมทั้งงานด้านอื่น ๆ ที่มีความจำเป็น เพื่อให้เกิดการยอมรับในเชิงระบบของงานวิจัยนั้น ๆ เพราะหากงานวิจัยที่ผ่านกระบวนการจากห้องทดลองที่ได้มาตรฐานรับรอง ก็จะได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อนักวิจัยที่ไม่ต้องย้อนกระบวนการกลับมาตรวจสอบในภายหลังอีก นับเป็นการขยายเครือข่ายสร้างมาตรฐานความปลอดภัยห้องทดลองหรือห้องปฏิบัติการเชิงพื้นที่ในลักษณะแม่ข่ายกับลูกข่ายในวงกว้าง สร้างโอกาสให้นักวิจัยได้เข้าถึงและใช้บริการของห้องทดลองหรือห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานมากขึ้น




 


จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น