วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

วช.แนะงานวิจัยต้นแบบฟาร์มกวางครบวงจร



            สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระตุ้นต่อยอดผลงานวิจัยต้นแบบฟาร์มกวาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง แหล่งองค์ความรู้ครบวงจรเกี่ยวกับกวาง สัตว์เศรษฐกิจที่มีอนาคต




              นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวภายหลังลงพื้นที่ร่วมกับสื่อมวลชน เยี่ยมชมฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า วช. นำโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ วช .ในฐานะเลขานุการร่วมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวนช. ซึ่งได้จัด มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  ประจำปี 2561 เพื่อผลักดันให้งานวิจัยมีการต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้จริง หรือจากหิ้งสู่ชุมชน ดังเช่น ผลงานวิจัยนวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ ของ ดร.มณี อาชวรานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยนวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ได้รับรางวัล Platinum Award ถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานดังกล่าว ถือเป็นผลงานต้นแบบฟาร์มกวางที่ดีและเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างมาก ในด้านการเกษตรสมัยใหม่ จึงเชื่อว่า หากนักวิจัยมีการพัฒนาต่อยอดให้ลึกที่สุด ทั้งในแง่การลงทุน การตลาด และสามารถตอบโจทย์การทำธุรกิจ ฟาร์มกวางได้อย่างแท้จริง จะทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน




                 ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.มณี อาชวรานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงแรงบันดาลใจ การทำวิจัยนวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ ว่า เริ่มจากงานวิจัยเกี่ยวกับ นกขุนทอง จนสามารถเพาะพันธุ์ ในกรงเลี้ยงได้สำเร็จ ในปี 2545 จึงเริ่มวิจัยองค์ความรู้อย่างครบวงจร เรื่องการเลี้ยงกวาง โดยนำเข้ากวางจากต่างประเทศ ทั้งกวางซิกา กวางรูซ่า และกวางแดง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. ในการทำวิจัยและพัฒนา จากผลงานวิจัยสู่ชุมชน ลองผิดลองถูกทุกเรื่อง เช่น อาหารคุณภาพสำหรับกวาง เป็นต้น พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน
   



                "ปัจจุบัน ฟาร์มแห่งนี้มีกวาง 1,000 ตัว จากเริ่มต้นมีไม่ถึง 100 ตัว ซึ่งผลผลิตหลักคือเขากวางที่มีสรรพคุณ สามารถแปรรูปเป็นยาได้  เขากวางอ่อน มีลักษณะเป็นกำมะหยี่หุ้ม ใช้เวลา 60 วัน จึงตัดได้ โดยเขากวางจะแข็งในฤดูสืบพันธุ์ ซึ่งจะหลุดเองและงอกใหม่เป็นเขาอ่อนต่อไป" รองศาสตราจารย์ ดร.มณีฯ อธิบาย
   
                สำหรับนวัตกรรมภายใต้โครงการวิจัย ประกอบด้วย โรงเรือนตัดเขากวางเคลื่อนที่,  การใช้ภาพสามมิติเพื่อประเมินคุณค่าทางโภชนาการของเขากวางอ่อน,  การทำอิฐจากมูลกวาง, การใช้แผงโซล่าเพื่อประหยัดพลังงาน,  การทำพืชอาหารสัตว์,  การใช้เขากวางแข็งสำหรับเซรามิค, โรงแปรรูปเนื้อกวาง, โรงเรือนเลี้ยงไส้เดือนเป็นปุ๋ย,  ผลิตภัณฑ์เขากวางอ่อน





                  ส่วนแนวโน้มการทำธุรกิจฟาร์มกวาง รองศาสตราจารย์ ดร.มณีฯ แนะนำว่า การทำฟาร์มกวางเชิงพาณิชย์ ตามระบบฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เป็นไปได้ดี คือ เกษตรกรควรรวมกลุ่ม หรือจับคู่กัน หรืออาจเลี้ยงเป็นรายได้เสริม เนื่องจากกวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ที่ให้ผลตอบแทนได้เกือบทั้งตัว ไม่ว่าเขากวาง มูลกวาง หรือเนื้อกวาง ซึ่งฟาร์มกวางแห่งนี้มีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบฟาร์มกวางอย่างครบวงจร




                 ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์พรชัย วงศ์วาสนา ผู้ร่วมโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงความคืบหน้าโรงแปรรูปเนื้อกวาง หรือโรงเชือด ว่า การก่อสร้างโรงแปรรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากโรงแปรรูปกวางไม่เข้าข่ายต้องจัดทำมาตรฐานของกรมปศุสัตว์เหมือนสัตว์อื่น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐาน GMP เพื่อสร้างมาตรฐานโรงแปรรูป ตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก วช. ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป
 



                 เกษตรกรหรือผู้สนใจทำธุรกิจฟาร์มกวาง หรือต้องการเป็นเครือข่ายฟาร์มกวางมหาวิทยาลับรามคำแหง ติดต่อที่ สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาค เขตร้อน มหาวิยาลัยรามคำแหง โทร 02-310 8694


ac



จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส
               เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น