วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สุพรรณบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ฯ จัดรำลึก " อ.มนัส โอภากุล "





                นางนิภา สังคนาคินทร์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี จัดกิจกรรม ดนตรีในสวนการเสวนาเรื่อง รำลึกถึง อาจารย์มนัส โอภากุล :  นักจดบันทึกประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี ในวันศุกร์ ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗  ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี โดยมี ว่าที่ร้อยตรี สุพีร์พัฒน์ จองพานิช  ผุู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  ให้เกียรติ มาเป็นประธานฯ



                 นางนิภา สังคนาคินทร์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  กิจกรรม ดนตรีในสวนการเสวนาเรื่อง รำลึกถึง อาจารย์มนัส โอภากุล :  นักจดบันทึกประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี  ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติอย่างสูง  จากบุคคลสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมวงเสวนา  ได้แก่ ท่านแรก ได้รับความเมตตา อนุเคราะห์จาก  พระราชปริยัติเมธี  เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี  ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย  อดีตสมาชิกวุฒิสภาสรรหา  นายเขมชาติ  เทพไชย  อดีตผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  นายศิระ  รุ่งเรืองศรี  อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนสุพรรณ  นายวัชรินทร์ โสไกร  นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  โดยมี  นางวรพร  พรหมใจรักษ์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นผู้ดำเนินรายการ




                 นายยรรยง โอภากุล รองนายกเทศมนตรีเมืองสุพรรณบุรี บุตรชายคนโตนายมนัส โอภากุล และ พี่ชายคนโต ยืนยง โอภากุล  หรือ  แอ๊ด คาราบาว  ให้ข้อมูลกับทางทีมงาน เพิ่มเติมว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.สุพรรณบุรี ได้จัดงานครั้งแรก เพื่อรำลึกถึง อ.มนัส โอภากุล ในชื่องาน  " รำลึก...ถึง อ.มนัส โอภากุล นักจดบันทึกประวัติศาสตร์ชาวสุพรรณฯ " โดยจะมีการเปิดงานเป็นทางการในวันที่ ๑๙  ธันวาคม  ๒๕๕๗  เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.สุพรรณบุรี นับเป็นเกียรติ และ ศักดิ์ศรีของครอบครัว คุณพ่อมนัส โอภากุล



              จึงฝากเรียนเชิญ พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ท่านใด สนใจ สามารถเข้าชมงานได้ ตั้งแต่ วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗  จนถึงต้นเดือนมกราคม ภายในงานจะแสดงเรื่องราวชีวิต และงานการจดบันทึกต่างๆ ของ อ.มนัส โอภากุล    ไว้ทั้งหมด









ครูมนัส โอภากุล

        ประวัติ  ครูมนัส โอภากุล

           นายมนัสเป็นบุตรชายของ นายติ๊มเข่ง แซ่โอ ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพ จบการศึกษาจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย เมื่อ ปี พ.ศ. 2469 เริ่มเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. 2478-พ.ศ. 2483 ต่อมาได้เป็นเสมียนและผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทสุพรรณบุรีจังหวัดพาณิชย์ จำกัด ระหว่างปี พ.ศ. 2484-พ.ศ. 2487 ภายหลังเปิดร้านค้าเป็นของตนเอง ชื่อ "ร้านมนัสพาณิชย์" ตั้งอยู่ที่เลขที่ 770 ตลาดทรัพย์สินซอย 4 อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ขายเครื่องดนตรีและเครื่องกีฬา

             นายมนัส โอภากุล มีความสนใจและรักในการศึกษาค้นคว้าทางด้านโบราณคดีโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรี จนมีความรู้อย่างละเอียดและแตกฉาน ได้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทั้งนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษา จนเป็นที่ยอมรับไปทั่ว และได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัตถุโบราณในจังหวัดสุพรรณบุรี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา

           โดยเฉพาะความรู้ความสามารถทางด้านพระพุทธรูปและพระเครื่องชนิดต่าง ๆ เช่น พระผงสุพรรณ เป็นต้น[1] นอกจากนี้แล้วยังเป็นนักสื่อสารมวลชนท้องถิ่นที่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับแรกของสุพรรณบุรี คือ หนังสือพิมพ์คนสุพรรณ





ครูมนัส โอภากุล :  นักจดบันทึกประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี  


           นอกจากนี้แล้ว ยังเคยเป็นผู้จัดการวงดนตรีลูกทุ่ง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรีสากลวงแรกของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยในปี พ.ศ. 2480 ได้ตั้งวงดนตรีขึ้นในนามของ วงดนตรีโรงเรียนเทศบาลวัดปราสาททอง แล้วเปลี่ยนเป็นชื่อวง มนัสและสหาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 วงมนัสและสหายได้เข้าสังกัดสมาคมชาวสุพรรณ จึงได้ชื่อวง ช.พ.ส. หนึ่งในสมาชิกของวงคือ อาจารย์สุเทพ โชคสกุล เจ้าของบทเพลงที่โด่งดังและเป็นอมตะจนถึงปัจจุบันเช่น "แม่พิมพ์ของชาติ" "มนต์การเมือง" "พระคุณที่สาม" เป็นต้น และเพลงที่ใช้ในวงการลูกเสือ เช่น "ความเกรงใจ" "ความซื่อสัตย์" "ตรงต่อเวลา" รวมทั้งเพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง "ครูบ้านนอก" อีกหลายเพลง นับได้ว่าท่านได้สร้างแรงบันดาลใจและสร้างโอกาสแก่สมาชิกในวงดนตรีของท่าน จนมีโอกาสได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ และได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ให้แสดงหน้าพระที่นั่งในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาจังหวัดสุพรรณบุรี สมาชิกของวงทุกท่านได้รับพระราชทานถุงทองบรรจุเหรียญ 1 ตำลึง ซึ่งเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้

           ส่วนสมาชิกวงดนตรี ช.ส.พ.หรือ วงดนตรีชาวสุพรรณ ได้แก่ นายมนัส โอภากุล เล่นไวโอลิน, นายสุเทพ โชคสกุล เล่นทรัมเปต, นายสถาน แสงจิตพันธ์ กีต้าคอร์ด, นายประยูร ปริยัติฆระพันธ์ เล่นดับเบิลเบส, และ นายสนิท บัวทอง เล่น แซกโซโฟน ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดได้เสียชีวิตแล้ว [2]


ครูมนัส นางจงจิน  โอภากุล

ชีวิตส่วนตัว

           นายมนัส สมรสกับ นางจงจิน มีบุตรด้วยกัน 6 คน โดยมีบุตรชายฝาแฝดที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ยืนยง (แอ๊ด คาราบาว) และ ยิ่งยง โอภากุล นักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังจากผลงานการทำงานด้านสังคม ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ทำให้นายมนัส โอภากุล ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ (อนุรักษ์และเผยแพร่) ประจำปี พ.ศ. 2530 เป็นผู้มีผลงานดีเด่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี พ.ศ. 2539 และได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2552 [3] [4]


เสียชีวิต

             นายมนัส โอภากุล ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยายมราช เขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554 มีอายุได้ 97 ปี [5]


ครูมนัส โอภากุล  อายุ  ๙๗  ปี
ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยายมราช
        
Cadit  :  คุณชุรีรัตน์  กลิ่นมาลา   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี  09-2268-4344  
เรวัติ  น้อยวิิจิตร  สุพรรณบุรีนิวส์  rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น