วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

วช.โชว์สูตรเมนูอาหารคุณภาพสำหรับเด็กวัยเรียน




             สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิด 26 สูตรเมนูอาหารสุขภาพเพื่อเด็กวัยเรียน พร้อมเตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้โรงเรียนในสังกัดจัดทำเมนูดังกล่าวเป็นอาหารกลางวัน หวังให้เด็กได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าและลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง





             ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวระหว่างเปิดแถลงข่าวการพัฒนาตำรับอาหารไทยมื้อกลางวันเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียน ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วันนี้ (26 มิ.ย.61) ว่า ภาวะทุพโภชนาการหรือการรับสารอาหารไม่เหมาะสมและเพียงพอของเด็กวัยเรียนนับเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อร่างกายและสติปัญญาของเด็กอย่างมาก  ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.ได้สนับสนุนการพัฒนาสูตรอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กในวัยเรียน ซึ่งเป็นส่วนย่อยของโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก 1 ในโครงการท้าทายไทย โดยมีข้อมูลทางวิชาการพบว่าเด็กไทยมีภาวะอาหารอย่างเพียงพอร้อยละ 70 มีภาวะอาหารเกินร้อยละ 20อาหารขาดแคลนร้อยละ 10 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายในการจัดอาหารให้เด็กในวัยเรียนอย่างเพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งโครงการพัฒนาเมนูอาหารกลางวันดังกล่าว เน้นคุณค่าทางโภชนาการและตรงกับความต้องการของเด็ก ทำได้สะดวก และใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ขณะนี้มีทั้งหมด 26 สูตร เหมาะสำหรับเด็กวัยเรียน ซึ่งโรงเรียนสามารถนำไปปรุงอาหารกลางวันให้เด็กได้ในราคาต้นทุนไม่เกินคนละ 20 บาทต่อมื้อ ซึ่งไม่เกินงบประมาณค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ทั้งนี้ วช.เตรียมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อมอบสูตรอาหารให้โรงเรียนต่าง ๆ ต่อไป





               ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์  ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงข้อดีของโครงการพัฒนาสูตรอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กในวัยเรียน ว่า เป็นการสร้างความตระหนักและความเอาใจใส่ในเด็กวัยเรียน รวมทั้งการบริหารจัดการอาหารกลางวันของเด็กในโรงเรียน ทำให้อาหารมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนและอร่อย เนื่องจากผ่านการทดลองในโรงเรียนประถมศึกษา 131 โรงเรียนในจังหวัดนครนายกมาแล้ว โดยใช้เวลา 3 เดือน พบว่า เพียงวันละมื้อ ก็ส่งผลดีต่อสุขภาพของเด็ก หากดำเนินการอย่างต่อเนื่องเชื่อว่าจะทำให้เด็กลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาต่อยอดเป็นซอสปรุงรสเข้มข้น 4 ชนิด ที่ลดเกลือ น้ำตาล และไขมัน เพื่อสะดวกในการปรุงอาหารและยังคงคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งมีการจัดทำคู่มืออาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขนาดต่าง ๆ ด้วย





               ดร.ทวีศักดิ์ เตชะเกรียงไกร แห่งภาควิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า การเลือกทดลองโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครนายก เนื่องจากพบจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในผู้ใหญ่จำนวนมาก คณะผู้วิจัยจึงเก็บข้อมูลทั้งก่อนและหลังโครงการ ซึ่งพบว่าภายในเวลา 3 เดือน สูตรเมนูอาหารกลางวันตามโครงการฯ มีผลดีต่อการเจริญเติบโตของร่างกายเด็กนักเรียน ทำให้น้ำหนัก ส่วนสูงและกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น โดยไขมันในร่างกายลดลง ซึ่งในอนาคตอาจมีการปรับสูตรเมนูอาหารให้เหมาะกับท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค




              ผู้สนใจเมนูอาหารดังกล่าว สามารถเข้าชมวีดีทัศน์ผ่านทางเว็บไซต์ วช.ของโครงการ NRCT School lunch http:www.nrct.go.th/nrctschoollunch/info.html






จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์  ผู้สื่อข่าวอาวุโส
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น