พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน "มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค" ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคมนี้ ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "แนวนโยบายแห่งรัฐเพื่อพัฒนาชุมชนสังคม อย่างยั่งยืนด้วยความรู้จากการวิจัย” โดยกล่าวว่า งานวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น มีหลายขั้นตอนที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ และต้องเข้าใจปัญหา โดยหาคำตอบให้ชัดเจนจากงานวิจัย เช่น เรื่องการเกษตร เกษตรอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้รัฐบาลถือว่าการเกษตรคือแกนหลักและหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจ การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของนักวิจัยในแต่ละภูมิภาค จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง และเป็นพลังขับเคลื่อนให้งานวิจัยสามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการแข่งขันได้ โดยผสมผสานงานวิจัยกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้งานวิจัยชุมชนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณ แต่การเริ่มต้นต้องมาจากนักวิจัยที่มีความรู้จากสถาบันต่างๆ สร้างเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และอาจเชื่อมโยงไปถึงระดับอาเซียน โดยเฉพาะด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดแข็งของภูมิภาค เนื่องจากงานวิจัยทำให้เกิดองค์ความรู้หลายสาขา ที่สามารถขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม อย่างไรก็ตาม งานวิจัยต้องมีนักวิจัย มีสถาบัน มีเครือข่าย เกิดขึ้น ต้องเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงให้ได้ เพื่อให้ไทยก้าวข้ามความยากจน และมีดัชนีรายได้สูงขึ้นด้วย
ด้านนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการ วช.รักษาราชการแทนเลขาธิการ วช.กล่าวว่า วช.ได้จัดกิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ มาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานวิจัยและกิจกรรมวิจัยที่มีคุณภาพในเวทีระดับชาติของเครือข่ายวิจัยทั่วปรเทศ และเพื่อขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น จึงจัดให้นำเสนอผลงานวิจัยในภูมิภาค ด้วยการจัดงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ซึ่งจัดมาแล้ว 3 ครั้ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ส่วนที่จังหวัดอุบลราชธานีนับเป็นครั้งที่4 ภายใต้แนวคิด "วิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" เพื่อสื่อความหมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นที่รู้จักทั้งในและนอกประเทศ งานวิจัยจึงมีศักยภาพสนับสนุนในหลายด้าน
ภายในงานมีทั้งการเสวนา การจัดแสดง นิทรรศการผลงงานวิจัยจากเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า ๑๕๐ ผลงาน รวมทั้งผลงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และสินค้า ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวพิเศษ
เรวัติ น้อยวิจิตร hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น