จังหวัดสระบุรีจับมือกับภาคเอกชนนำร่องดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยหญ้าเนเปียร์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งบนพื้นที่กว่า 25 ไร่
วันนี้( 24 มีนาคม 2559) เวลา 10.00 น. นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย (หญ้าเนเปียร์) เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ณ แปลงสาธิตหญ้าเนเปียร์ บ้านหนองกอง ต.เขาวง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี มีนายวัชรินทร์ คำมุงคุณ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นายแปลก เทพรักษ์ นายอำเภออำเภอพระพุทธบาทตัวแทนจากธนาคารเกษตรและสหกรณ์ พี่น้องเกษตรกรและสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
นายวัชรินทร์ คำมุงคุณ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทั้งนี้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับอำเภอพระพุทธบาท จ.สระบุรี ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย (หญ้าเนเปียร์) เพื่อร่วมบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง และเพิ่มรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร สอดคล้องกับนโยบาย ตามนโยบายรัฐบาลในโครงการ ประชารัฐ ปันน้ำใจ ให้น้ำใช้ ปลูกหญ้า ฝ่าวิกฤติแล้ง โดยที่ทางบริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด(มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนพันธ์หญ้า ปุ๋ย และการรับผลผลิตจากเกษตรกรในราคาประกันตันละ 400 บาท เป็นเวลา 3 ปี โดยพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะให้ผลผลิตเฉลี่ยอย่างน้อย 50-60 ตันต่อไร่ สร้างรายได้เป็นเงิน 20,000-30,000 บาทต่อไร่ต่อปี และเป็นพืชที่สามารถปลูกในดินทั่วๆไป น้ำไม่ท่วมขัง และใช้น้ำน้อย จึงเหมาะสำหรับเกษตรกรที่จะปลูกพืชทางเลือกทางรอดใหม่แทนพืชชนิดอื่นๆและใช้เวลาเพียง 3 เดือนก็สามารเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
นายแปลก เทพรักษ์ นายอำเภอพระพุทธบาท กล่าวว่า สำหรับ โครงการ ประชารัฐ ปันน้ำใจ ให้น้ำใช้ ปลูกหญ้า ฝ่าวิกฤติแล้ง เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาไม่สามารถทำนาได้ หันมาปลูกพืชชนิดใหม่ที่ใช้น้ำน้อย ด้วยการร่วมมือกับโรงงานในพื้นที่ คือบริษัทคากิลล์มีทส์(ไทยแลนด์) จำกัด นำน้ำที่ใช้แล้วจากโรงงานที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการสนับสนุนการปลูกหญ้า เนเปียร์ ปลูกข้าวโพด และปลูกผักสวนครัว โดยมีบริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ส่งเสริมการปลูกและรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถมีอาชีพมีรายได้ เนื่องจากหญ้าเนเปียร์สมารถเก็บเกี่ยวได้ปีละหลายครั้งและอายุยืนอยู่ได้หลายปี ให้ผลผลิตสูง ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ซึ่งในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ก็มีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อาทิ บริษัทคากิลล์มีทส์(ไทยแลนด์) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนการปลูกพืชผัก และหญ้าให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบโรงงาน ด้วยการจัดสรรน้ำให้เกษตรกรได้ใช้ บริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด(มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนพันธ์หญ้า ปุ๋ย และการรับซื้อ บริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธ์ จำกัด สนับสนุนเมล็ดพันธ์พืชผัก ข้าวโพด และส่งเสริมด้านการตลาด หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาได้ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ได้ใช้จำนวน 24 บ่อ บริษัทปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด(มหาชน) บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ท่าหลวง)จำกัด ส่งเสริมการปลูกหญ้าในพื้นที่ว่างของโรงงานให้กับเกษตรกรที่อยู่รอบโรงงาน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)สนับสนุนทุนสินเชื่อเพื่อลงทุนปลูกหญ้า รายละ 100,000 บาท
ด้านนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การจัดโครงการนี้เป็นความร่วมมือของอำเภอพระพุทธบาทที่ร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาชน กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ แนวแนวทางประชารัฐของรัฐบาลถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการนำน้ำที่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ถือเป็นการนำร่องในการสนับสนุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง โดยต่อไปอาจจะพัฒนาเป็นอาชีพหลักของพี่น้องประชาชนก็ได้เพราะว่าจังหวัดสระบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากน่าจะขยายผลได้อีกในหลายๆพื้นที่
(คนธรรมดา. ม้าตัวเดียว)
เรวัติ น้อยวิจิตร สุพรรณบุรีนิวส์ rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น