วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

วิจัยยกระดับสร้างมูลค่าผักตบชวา

   


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิจัยยกระดับผักตบชวาพัฒนาเป็นเส้นด้ายคุณภาพ หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มธรรมชาติและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสิ่งทอ  



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชนสาคร สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หัวหน้าโครงการวิจัย "เส้นด้ายจากเส้นใยผักตบชวา" และคณะ ได้นำผลงานคิดค้นวิจัยดังกล่าวจัดแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่งสำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.จัดขึ้น ณโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคมนี้ โดยเส้นด้ายจากเส้นใยผักตบชวาเป็นผลงานที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติชนิดใหม่มีน้ำหนักเบาและดูดซึมความชื้นได้สูง ขณะนี้ได้พัฒนาจนสามารถผลิต ในระดับอุตสาหกรรมแล้ว  


ทั้งนี้จากปัญหาผักตบชวา พืชธรรมชาติเหลือใช้ ที่ไม่มีใครต้องการจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการวิจัยเส้นด้ายจากเส้นใยผักตบชวา ซึ่งขั้นตอนการผลิต จะเริ่มตั้งแต่การคัด ผักตบชวาขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร โดยรับซื้อจากชาวบ้านกิโลกรัมละ 5 บาท ผักตบชวา 1 กิโลกรัมจะมี 12-15 ต้น จากนั้น จะตัดรากและใบออกให้เหลือแต่ลำต้น นำเข้าเครื่อง แยกกากอัตโนมัติที่ทางมหาวิทยาลัยสั่งผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้เหลือแต่เส้นใยและนำไปตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้งจะได้เส้นใยร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยผักตบชวา 100 กิโลกรัมจะได้เส้นใหญ่ 1 กิโลกรัม ขั้นต่อไปคือส่งเส้นใยเข้าโรงงานผลิตเป็นเส้นด้าย โดยให้ชาวบ้านและโรงงานนำเส้นด้ายไปทอเป็นผืนผ้า เพื่อนำไปทำรองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า และหมวก เนื่องจากผ้าทอที่ทำจากเส้นด้ายผักตบชวาจะมีน้ำหนักเบา ให้ความอบอุ่นและระบายความร้อนได้ดี ขณะเดียวกันจากคุณสมบัติความยืดหยุ่นจึงนำด้ายจากใยผักตบชวาไปถักทอเป็นถุงเท้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาทางธุรกิจกับภาคเอกชนเพื่อส่งออก ไปยังโรงงานผลิตถุงเท้าในไต้หวันด้วย  

 
 

การวิจัยเส้นด้ายจากเส้นใยผักตบชวา นอกจากเพิ่มมูลค่าให้พืชธรรมชาติที่ไม่มีใครต้องการแล้ว ยังทดแทนการนำเข้าฝ้ายจากต่างประเทศ ถือเป็นการยกระดับเทคโนโลยีสิ่งทอและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการพัฒนา ต่อยอดเพื่อให้ผ้าทอเส้นด้ายจากผักตบชวามีราคาถูกลงต่อไป


ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมผลงานวิจัยนี้ได้ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งผลงาน วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพอีกมากมาย ตลอดจนนิทรรศการ และเวทีประชุมเสวนาในหลายประเด็นที่น่าสนใจ จนถึงวันที่ 27 สิงหาคมนี้




จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น