เรียนเชิญ และ ขอเชิญชวนพี่น้องลูกหลานชาวโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ประชาชนชนชาวจังหวัดสุพรรณบุรี และทุกท่าน ร่วมงานน้อมรำลึกถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เนื่องด้วย ในวันพุธที่30 ธันวาคม2558 นี้ เป็นวันคล้ายวันอสัญกรรม มหาอำมาต์นายก เจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) ครบรอบ 77 ปี ดังนั้นคณะกรรมการการอนุรักษ์และพัฒนาบ้านยะมะรัชโช ร่วมกับ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช อบจ.สุพรรณบุรี เทศบาลเมืองสุพรรณ พิพิธภัณฑสถาน-แห่งชาติสุพรรณบุรี ได้ร่วมกันจัดงานขึ้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึก และแสดงความกตัญญูกตเวทิตา ต่อเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) ผู้ซึ่งมีพระคุณต่อบุคคลากรโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช และประชาชนชนชาวจังหวัดสุพรรณบุรี
โดยจะจัดงานขึ้นใน วันพุธที่ 30 ธันวาคม 2558 นี้ เวลาเก้าโมงเช้าถึงบ่ายสองโมง ณ บริเวณบ้านยะมะรัชโช เชิงสะพานอาชาสีหมอก มีกำหนดการดังนี้
๐8.30 น. ลงทะเบียน/ถ่ายภาพ
๐๙.๐๐ น.- ๑๐.๐๐ น. แลกเปลี่ยนเรียนรู้”คนคุณภาพคู่คุณธรรม”การดูแลสุขภาพ เพิ่มพลังกายใจ เตรียมพร้อมผ่านปีเก่าสู่ปีใหม่ที่สดใสมีความสุข โดยพญ.อรัญญา กัลญาณพจน์พร,พญ.ธัญญกร นันทิยกุล และทีม
10.๓0 น.- 11.๓0 น. ร่วมทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ๙ รูป ถวายจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรม
๑๑.๓0 น.- ๑๒.๓๐ น. ร่วมรับประทานอาหาร
๑๒.๓๐ น.- ๑๓.๓๐ น. ปรับสมดุลร่างกายและจิตใจ (ฝึกทักษะการเยียวยาข้อต่อ เสริมสร้างมวลกระดูก สร้างความ แข็งแรงให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น) โดยพญ.วิไลพร สกุลพิพัฒน์ศิลป์,คุณน้ำฝน เจียมบุญศรี และทีม
๑๓.๓๐ น.- ๑๔.๐๐ น. ร่วมเวทีเสวนาอัตชีวประวัติของท่านเจ้าพระยายมราช และบ้านยะมะรัชโช โดยคุณธนิตศักดิ์ แป้งบ้านพลูหลวง
ภายในงาน พบกับกิจกรรมหลากหลาย
- ท่านสามารถมีส่วนร่วมในการทำบุญเพื่อนำเงินมาใช้ในกิจการของบ้านยะมะรัชโช โดยการเช่าบูชาเหรียญหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ ด้านหลังเป็นภาพเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)
-ชม บูทนิทรรศการ อัตชีวประวัติของท่านเจ้าพระยายมราชและบ้านยะมะรัชโช
-ชม บูทวิชาการ การดูแลสุขภาพ เพิ่มพลังกายใจ เตรียมพร้อมผ่านปีเก่าสู่ปีใหม่ที่สดใสมีความสุข จาก
โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช
- ชม บูท การอนุรักษ์พลังงาน /ตอบคำถาม แจกรางวัล จาก โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช
- จำหน่ายสินค้าชุมชน ราคาถูก ร่วมใจใส่ผ้าไทยหรือตามอัธยาศัย
ชิม ช็อป แชะ ฟรีตลอดงานแล้วมาร่วมงานบุญบ้านเรากันนะคะ ณ บ้านยะมะรัชโช เชิงสะพานอาชาสีหมอก
ประวัติเจ้าพระยายมราช
เจ้าพระยายามราช (ปั้น สุขุม) เป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม ปีจอ พ.ศ. 2405 สกุลเป็นคหบดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านน้ำตก ริมแม่น้ำฟากตะวันออกข้างใต้ตัวเมืองสุพรรณบุรี บิดาชื่อกลั่น มารดาชื่อผึ้ง มีพี่น้องร่วมมารดา 5 คน ตามลำดับดังนี้
- ฉาย (พี่ชาย) ได้เป็นที่หลวงเทพสุภา กรมการเมืองสุพรรณบุรี
- นิล (พี่สาว) เป็นภรรยาหลวงแก้วสัสดี (ดี สุวรรณศร) กรมการเมืองสุพรรณบุรี
- หมี (พี่ชาย) ได้เป็นที่พระยาสมบัติภิรมย์ กรมการเมืองสงขลา
- คล้ำ (พี่ชาย) ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่งในตำบลน้ำตก
- หยา (พี่สาว) เป็นภรรยาหลวงจ่าเมือง (สิน สังขพิชัย) กรมการเมืองสุพรรณบุรี
เจ้าพระยายมราชเป็นน้องคนสุดท้องชื่อ ปั้น เมื่อเป็นเด็กอายุได้ 5 ขวบ บิดามารดาพาเจ้าพระยายมราชไปเรียนหนังสือที่วัดประตูสาร ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอท่าพี่เลี้ยง (อำเภอเมืองสุพรรณบุรี) จังหวัดสุพรรณบุรี เรียนอยู่ได้ไม่ถึงปี มีงานทำบุญในสกุล ได้นิมนต์พระใบฎีกาอ่วม วัดหงส์รัตนารามจังหวัดธนบุรี ไปเทศน์ที่วัดประตูสาร บิดามารดาจึงถวายเด็กชายปั้นให้เป็นศิษย์ เป็นเสมือนใส่กัณฑ์เทศน์ พระใบฎีกาอ่วมจึงพาเด็กชายปั้นไปจากเมืองสุพรรณ เมื่อพ.ศ. 2411 ขณะนั้นเด็กชายปั้นอายุได้ 6 ขวบ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ยินได้ฟังจากเครือญาติของเจ้าพระยายมราช ซึ่งเป็นหลวงยกกระบัตรกรมการเมืองสุพรรณบุรีว่า เจ้าพระยายมราช เป็นบุตรคนสุดท้องมิใคร่มีใครเอาใจใส่นำพานัก บิดามารดาจึงใส่กัณฑ์เทศน์ถวายพระเข้ากรุงเทพฯ ก็มิได้คิดว่าเป็นเด็กชายปั้นจะมาเป็นคนดี ีมีบุญล้ำของเหล่ากอถึงเพียงนี้ ถ้าหากเจ้าพระยายมราชเกิดเป็นลูกหัวปีจะเป็นทายาท ของสกุล บิดามารดาจะถนอมเลี้ยงไว้ที่เมืองสุพรรณจนเติบใหญ่ อย่างมากเจ้าพระยายมราชจะได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน สูงกว่านั้นก็ได้เป็นกรมการ เช่นหลวงเทพสุภาพี่ชาย หรืออย่างดีที่สุดเป็นพระสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณเท่านั้น จะไม่ได้เป็นเจ้าพระยายมราชตลอดชีวิต "ข้อที่ท่านเกิดเป็นลูกคนสุดท้องไม่มีใครหวงแหน" ใส่กัณฑ์เทศน์ "ถวายพระพาเข้ากรุงเทพฯนั้น ควรนับว่าบุญบันดาลให้ท่านเข้าสู่ต้นทางที่ จะดำเนินไปจนถึง ได้เป็นรัฐบุรุษวิเศษคนหนึ่งในสมัยของท่าน"
เจ้าพระยายมราชเป็นลูกศิษย์พระใบฎีกาอ่วมอยู่ 6 ปี พระใบฎีกาอ่วมเอาใจใส่ธุระระวังสั่งสอนผิดกับลูกศิษย์วัดคนอื่นๆ เด็กชายปั้นมีกิริยา มารยาทเรียบร้อยผิดกว่าชาวบ้านนอก ส่อให้เห็นว่าท่านได้รับการอบรมมาจากครูบาอาจารย์ที่ดี เรียนเพียง ก.ข. และนะโมที่วัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น ความรู้ทั้งหมดได้จากวัดหงส์รัตนารามทั้งสิ้น เพียงอายุได้ 13 ขวบ ก็สามารถเป็นครูสอนคนอื่นได้ นับว่าเป็นอ้จฉริยะคนหนึ่ง ครั้นถึง พ.ศ. 2417 อายุได้ 13 ปี ญาติรับกลับไปโกนจุกที่เมืองสุพรรณ แล้วส่งกลับไปอยู่ที่วัดหงส์รัตนารามกับพระใบฎีกาอ่วมตามเดิม
พ.ศ. 2418 จึงบรรพชาเด็กชายปั้นเป็นสามเณรเล่าเรียนวิชาต่อไปอีก 7 พรรษา คือเรียนเสขิยวัตรกับท่องจำคำไหว้พระสวดมนต์ เรียนหนังสือขอม และหัดเทศน์มหาชาติสำหรับไปเทศน์โปรดญาติโยม เจ้าพระยายมราชเสียงดี อาจารย์ให้เทศน์กัณฑ์มัทรีและให้เรียนภาษามคธ เริ่มด้วยคัมภีร์ "มูล" คือไวยากรณ์ภาษามคธ แล้วเรียนคัมภีร์พระธรรมบท เรียกว่า "ขึ้นคัมภีร์" เพื่อเข้าสอบเปรียญสนามหลวง โดยไปเรียนกับสำนักอาจารย์เพ็ญกับพระยาธรรมปรีชา (บุญ) และสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์เทพวนาราม ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะอาจารย์สอน ในขณะนั้น
พ.ศ. 2425 เจ้าพระยายมราชอายุได้ 21 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดหงส์รัตนาราม สมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ. 2426 เข้าสอบปริยัติธรรม ณ สนามพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ทางคณะมหาเถระวิตกกันว่าจะไม่มีใครสามารถสอบได้ วันแรกภิกษุสามเณรเข้าแปล 4 องค์ตกหมด เป็นเช่นนั้นมาหลายวัน จนถึงกำหนดพระปั้นวัดหงส์เข้าแปล วันแรกได้ประโยค 1 ก็ไม่มีใครเห็นว่าแปลกประหลาด เพราะผู้ที่สอบตกมาก่อนก็สอบได้ พอแปลประโยคที่ 2 ก็มีคนเริ่มกล่าวขวัญกันบ้าง ถึงวันแปลประโยคที่ 3 เป็นวันตัดสินว่าจะได้หรือไม่ จึงมีคนไปฟังกันมาก ทั้งภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ พอแปลได้ประโยคที่ 3 พระมหาเถระพากันยิ้มแย้มยินดี เพราะเพิ่งได้เปรียญองค์แรก จึงเรียก "มหาปั้น" ตั้งแต่วันนั้นเป็นมา
ตอนที่เจ้าพระยายมราชเป็นพระภิกษุเรียนปริยัติธรรมกับมหาธรรมปรีชา (บุญ) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นธุระจัดภัตตาหารมาถวายพระเณรที่มาเรียนกับพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ทุกวันจนเป็นที่คุ้นเคยกับพระภิกษุปั้น เวลาพระภิกษุปั้นเข้าสอบปริยัติธรรมสนามหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ปลอบใจพระภิกษุปั้นว่า อย่าได้หวาดหวั่นและทรงแสดงความยินดีเมื่อสอบได้เปรียญธรรมประโยค จากนั้นพระองค์ก็ไม่ได้พบกับมหาปั้นอีกเลยเป็นเวลาเดือนกว่า
ต่อมาคืนหนึ่งเวลา 20 นาฬิกา พระมหาปั้นไปหาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่โรงทหารมหาดเล็ก นำต้นไม้ดัดปลูก ในกระถางไปด้วย 1 ต้น บอกว่าจะมาลาสึก และเมื่อสึกแล้วจะขอถวายตัวอยู่กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ตรัสว่า "เมื่อได้อุตส่าห์พากเพียรเรียนพระไตรปิฎก มาจนได้เป็นเปรียญมีชื่อเสียงแล้ว ไฉนจะสึกตั้งแต่ยังไม่ได้รับพระราชทานพัดยศ" พระมหาปั้นตอบว่า "ท่านสิ้นอาลัยในการเป็นสมณะ ได้ปลงใจตั้งแต่ก่อนเข้าแปลปริยัติ ธรรมว่าจะสึก ที่เข้าแปลด้วยประสงค์จะบำเพ็ญกุศล อุทิศสนองบุญท่าน ผู้เป็นครูอาจารย์ มาแต่หนหลัง นึกว่าพอแปลแล้วจะตกหรือได้ก็จะสึกอยู่นั้นเอง"
วิถีชีวิตของเจ้าพระยายมราชเริ่มเปลี่ยนไปในทางใหม่อีก หากเจ้าพระยายมราชยังคงอุปสมบทอยู่บวรพระพุทธศาสนา อย่างมากก็คงเป็น พระราชาคณะ เท่านั้น นับเป็นก้าวที่สอง ที่จังหวะชีวิตของเจ้าพระยายมราชก้าวเข้าสู่หนทางแห่งความเจริญของชีวิต ทั้งนี้จักต้องมีคู่สร้างคู่สมให้การอุปถัมภ์ค้ำจุนกันมาแต่ชาติปางก่อน โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ดูจะเป็นสำคัญ
เมื่อลาสิกขาบทแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอุปสมบทไปจำวัสสาที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่ ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยานายปั้นได้ตามไปอยู่กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ด้วยตลอดพรรษา จึงใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเริ่มเรียนรู้นิสัย ของเจ้าพระยายมราชจนเป็นที่รักใคร่กัน
เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพลาสิกขาบทแล้ว จึงให้นายปั้นถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ. 2426 อายุ 22 ปี เป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้เงินเดือน 16 บาท ต่อมาเลื่อนเป็นครูผู้ช่วย พำนักอยู่กับหม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยน และหม่อมราชวงศ์หญิงเขียนที่บ้าน ซึ่งทั้งสองท่านเป็นโยมอุปถากมาตั้งแต่เป็นสามเณร
ต่อมานายปั้นได้ถวายการสอนหนังสือแด่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ด้วยการชักจูงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช โดยจัดห้องเรียนขึ้นต่างหากที่ท้องพระโรงของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็น 48 บาท นายปั้นฉลาดในการสอนไม่เหลาะแหละ ประจบลูกศิษย์ แต่ก็ไม่วางตัวจนเกินไป พระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ทรงยำเกรง โปรดมหาปั้นสนิทสนมทุกพระองค์ ต่อมาพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เข้าเป็นลูกศิษย์ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปศึกษาในประเทศยุโรป พระพระราชวินิจฉัยเห็นว่าพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์ เพิ่งเรียนหนังสือไทยได้เพียงปีเดียว เกรงว่าจะลืมเสียหมด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เลือกครูไปยุโรปกับพระเจ้าลูกยาเธอหนึ่งคน ใน พ.ศ. 2429 ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเลือก "นายปั้น เปรียญ" ไปสอน โดยพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้เป็น ขุนวิจิตรวรสาส์น มีตำแหน่งในกรมอาลักษณ์ (แผนกครู)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า ...คิดดูก็ชอบกลอีก ถ้าหากท่านสมัครเข้ารับราชการในกรม มหาดเล็กก็ดี หรือเมื่อสมัคร เป็นครูแล้ว แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมิได้โปรดส่งพระเจ้าลูกยาเธอเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เหมือนอย่างที่เคย ส่งท่านเข้ามาจากเมืองสุพรรณอีกครั้งหนึ่ง น่าพิศวงอยู่...
เล่ากันว่าเจ้าพระยายมราชชักเงินเดือนของตนเองไปจ้างครูสอนภาษาอังกฤษแก่ตัวเองด้วย เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จกลับมากรุงเทพฯชั้วคราว เจ้าพระยายมราชตามเสด็จ กลับมาด้วย ถึงกรุงเทพฯต้นปี พ.ศ. 2431 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ 5 เป็นบำเหน็จครั้งแรก ขณะที่กลับมานั้น หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนโยม อุปถากสิ้นชีพตักษัยไปแล้ว ยังคงเหลือหม่อมราชวงศ์หญิงเขียน จึงรับไปอยู่ด้วย รับเลี้ยง เป็นอุปถากสนองคุณให้มีความสุขสบาย เมื่อถึงแก่กรรมก็จัดปลงศพให้ด้วย นับเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณแก่ผู้มีพระคุณอันเป็นสิ่งที่ ควรสรรเสริญ
ในขณะที่เจ้าพระยายมราชกลับมาเมืองไทย ได้กราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอให้เป็นแม่สื่อไปสู่ขอลูกสาว พระยาชัยวิชิต ซึ่งขณะนั้นเป็นหลวงวิเศษสาลี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพกระกาดใจเพราะอายุเท่ากัน จึงไปวานให้ พระมารดา ของท่านไปเป็นเถ้าแก่สู่ขอนางสาวตลับ ธิดาคนโตของหลวงวิเศษสาลี ก็ไม่เป็นการขัดข้อง เมื่อแต่งงานแล้วไปอยู่ยุโรปด้วยกัน เพราะพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์เสด็จกลับไปศึกษาต่อ
ต่อมาเจ้าพระยายมราชได้เป็นผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตลอนดอน และต่อมาได้เป็นอุปทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ. 2436 กลับมาเมืองไทยเป็นข้าหลวงพิเศษ จัดการปกครองจังหวัดสงขลาและพัทลุง เมื่อ พ.ศ. 2439 และในปีนั้นเองได้เป็นสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต อันสืบเนื่องมาจากชื่อพระยาสุขุมนัยวินิตนั้น เนื่องมาด้วย พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชวินิจฉัยว่าท่านเป็นคนที่มีสติปัญญาอย่างสุขุม สามารถทำการได้ด้วยการผูกน้ำใจคน ไม่ชอบใช้อำนาจ ด้วยอาญา ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น เวลานั้นท่านเป็นเจ้าพระยายมราชแล้ว กราบบังคมทูลขอพระราชทานคำ"สุขุม" เป็นนามสกุล
พ.ศ. 2449 พระยาสุขุมนัยวินิต ย้ายเข้ามาเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ในชั้นแรกให้รั้งตำแหน่งเสนาบดีอยู่สองสามเดือนก่อน ว่าจะสามารถเป็นเสนาบดีได้หรือไม่ แล้วจึงทรงแต่งตั้งเป็นเสนาบดีเต็มตามตำแหน่ง กระทรวงโยธาธิการในสมัยนั้นมี 3 กรม คือกรมรถไฟ กรมไปรษณีย์-โทรเลข กรมโยธา เฉพาะกรมรถไฟมีฝรั่งเป็นส่วนมาก และกรมไปรษณีย์ไม่เป็นปัญหาที่จะแก้ไขปรับปรุง แต่กรมโยธากำลังยุ่ง ถึงกับต้องเอาเจ้ากรมออกจากตำแหน่ง เมื่อพระยาสุขุมนัยวินิตเข้าไปเป็นเสนาบดี ต้องแก้ไขเรื่องยุ่งๆของกรมโยธา ขณะนั้นกรมโยธากำลังก่อสร้าง พระราชมณเฑียร ในหมู่พระที่นั่งอัมพรสถานมีโอกาสเข้าเผ้าพระพุทธเจ้าหลวงอยู่เสมอ และรับสั่งมาทำตาม พระราชประสงค์อยู่เนืองๆ พระพุทธเจ้าหลวงทรง หยั่งเห็นคุณอันวิเศษของพระยาสุขุมนัยวินิตยิ่งขึ้น งานใดที่รับสั่งพระยาสุขุมนัยวินิตพยายามทำการนั้นให้สำเร็จดัง พระราชประสงค์ จึงเป็นเหตุให้ทรงพอ พระทัยใช้สอยเจ้าพระยายมราชตั้งแต่นั้นมา เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป มีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ฝากฝังให้เจ้าพระยายมราช เป็นธุระ ช่วยดูแลพระราชฐานด้วย
ต่อมาอีก 2 ปี พ.ศ. 2450 ย้ายจากกระทรวงโยธาธิการมาเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล แต่พระพุทธเจ้าหลวงยังคงให้อำนวยการสร้าง พระราชวังดุสิตต่อไปตามเดิม ทั้งโปรดให้โอนกรมสุขาภิบาลซึ่งอยู่ในกระทรวงเกษตราธิการมาขึ้นกับกระทรวงนครบาลด้วย พระยาสุขุมนัยวินิต พยายามศึกษาหน้าที่ราชการต่างๆและได้สมาคมคุ้ยเคย กับข้าราชการในกระทรวงนครบาลแล้ว เริ่มดำเนินงานจัดการปกครองท้องที่ โดยใช้วิธ ีปกครองเมืองต่างๆในมณฑลกรุงเทพฯ อย่างเดียวกับหัวเมือง ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย พอดีเกิดเรื่องชาวจีนในกรุงเทพฯปิดร้านค้าขาย สอบถามได้ความว่า ไม่มีความเดือดร้อนอันใด เป็นเพียงแต่จีนคนหนึ่งทิ้งใบปลิวให้ปิดร้าน จึงจำต้องปิดหมายความถึงถูกบีบคั้น จะไปร้องเรียน ก็ไม่ถึงจึงปิดร้านเพื่อ ให้ทางราชการมาระงับทุกข์ พระยาสุขุมนัยวินิตจึงปรึกษากับกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ตกลงใช้อุบายให้ทหารม้า 2 กองร้อยแยกเป็นหลายแถว เดินแถวผ่านไปตามถนนเจริญกรุงถึงบางรัก ซึ่งมีคนจีนอยู่มากคล้ายกับตรวจตรา ไม่มีใครรู้ว่าทหารม้าจะมาทำอะไร พอรุ่งขึ้นพระยาสุขุมนัยวินิตให้นายพลตะเวนสั่ง ให้จีนเปิดร้านเหมือนอย่างเดิม ทุกร้านยอมเปิดร้านกันจนหมด
ในปี พ.ศ. 2451 นี้เอง ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต เป็นที่เจ้าพระยามีสมญาจารึกในหิรัญบัตรว่า เจ้าพระยายมราช ชาตเสนางคนรินทร มหินทราธิบดี ศรีวิชัย ราชมไหสวรรยบริรักษ์ ภูมิพิทักษ์โลกาธิกรณ์ สิงหพาหเทพยมุรธาธร ราชธานีมหาสมุหประธาน สุขุมนัยบริหารเอนกยรวมาคม สรรโพดมสุทธิศุขวัฒนาการ มหานคราภิบาลอรรคมาตยาธิบดี อภันพิริยปรากรมพาหุคชนาม ถือศักดินา 10,000
เจ้าพระยายมราชรับราชการสนองพระเดชพระคุณตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เรื่อยมาถึงรัชการที่ 6-7 จนกระทั่งรัชกาลที่ 8 ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2477 ร่วมกับพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภากับกรมหมื่นอนุวัติจาตุรนต์ พ.ศ. 2478 ดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน
เจ้าพระยายมราช รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้า แม้จะป่วยไข้แต่พอทำงานได้ก็จะทำด้วยความมานะอดทน จนกระทั่งล้มเจ็บ อย่างหนักครั้งใหญ่ อันเป็นครั้งสุดท้ายในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลยังประทับอยู่ในพระนคร และเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481 เวลา 15.00 น. เจ้าพระยายมราช ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบด้วยความเศร้าสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง โปรดเกล้าฯให้คณะผู้สำเร็จราชการ เสด็จไปแทนพระองค์ ในการพระราชทานน้ำอาบศพ ณ บ้านศาลาแดง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลองกุดั่นน้อย ประกอบพร้อมทั้งเครื่องเกียรติยศศพให้ ทางราชการประกาศให้ข้าราชการ ไว้ทุกข์ทั่วราชอาณาจักร มีกำหนด 15 วัน ให้สถานที่ราชการลดธงกึ่งเสา 3 วัน บรรดาสถานทูตและกงสุลต่างๆ ได้ให้เกียรติลดธงกึ่งเสา 3 วันเช่นกันและพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2482 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส
กรพินทุ์ ปานวิเชียร รพ.เจ้าพระยายมราช
เรวัติ น้อยวิจิตร hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น