วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561

กอบศักดิ์ฯ เดินหน้าดันนโยบายวิจัยตอบโจทย์ประเทศ พร้อมขยายผลทั่วประเทศ



             รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. พร้อมปรับบทบาทเป็นเสนาธิการด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนงานวิจัยรูปแบบใหม่ เน้นวิจัยท้าทายตอบโจทย์ประเทศไทย





   
              ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงาน วช. กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่บุคลากร วช. เมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2561 ว่า ในการหารือกับผู้บริหารและบุคลากร วช.เบื้องต้น มีแนวทางหลายอย่างที่จะส่งเสริมให้นำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง





              โดยเรื่องแรกจะเร่งผลักดันกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เนื่องจากพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นเรื่องนวัตกรรมและนำประเทศไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างสินค้าและนวัตกรรมวิจัยใหม่ ๆ จึงต้องมีหน่วยงานกำหนดกรอบแนวทางการวิจัยของประเทศไทยอย่างแท้จริง  ซึ่งพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กำลังขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวให้เกิดขึ้น  และให้ วช. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ หรือเป็น “เสนาธิการ” ทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ บูรณาการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรมมีนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน


              เรื่องที่ 2 เป็นการกำหนดแนวนโยบายกรอบการวิจัยว่าจะวิจัยไปทางไหน เพื่อไม่ให้วิจัยแล้วขึ้นหิ้ง แต่ต้องนำไปใช้ได้ โดยเฉพาะการวิจัยปัญหาที่ท้าทายของประเทศ เช่น ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปัญหาการกำจัดผักตบชวา ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นปัญหาหนักของประเทศและกระทบกับประชาชน แต่ยังไม่มีการวิจัยหาคำตอบกับโจทย์เหล่านี้อย่างแท้จริง ดังนั้น จึงได้หารือกันว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเปิดรับ “โจทย์ปัญหาใกล้ตัวของประชาชนไทย” เพื่อกำหนดเป็นโจทย์โครงการ “ท้าทายไทย” คัดเลือกโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนมากที่สุด พร้อมยกตัวอย่าง งานวิจัยธนาคารปูม้า ที่เป็นต้นแบบในการคืนปูม้าสู่ทะเลไทย สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน


               เรื่องที่ 3 ในอนาคตการกำหนดกรอบวิจัยเพื่อจัดสรรงบประมาณจะบริหารงานในรูปแบบใหม่ เพื่อจัดให้มีงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศแบบมุ่งเป้า ท้าทายไทย เกิดประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ และเรื่องที่ 4 อยากให้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศในแต่ละด้าน เพื่อนำปัญหาของประชาชนมาตอบโจทย์ในสิ่งที่ประชาชนต้องการและอยากได้ ช่วยสร้างรายได้ และสร้างอาชีพใหม่ให้ประชาชน  ทั้งนี้ วช.จะจัดทำฐานข้อมูลสำหรับระบบวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคลากร งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานการวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ โดยทุกคนสามารถเข้าถึงได้






              ด้านศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2561 วช. วางแนวทางขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล 3 แนวทาง คือ 1) การบูรณาการเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคอุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 2) การใช้องค์ความรู้จากการวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 3) การบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อเสริมพลังความเข้มแข็งของการทำงาน โดยในโครงการ "ปั้นดาว" ภายใต้แนวคิด "วิจัยกินได้"  วช.และเครือข่ายวิชาการ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีความเข้มแข็งในเชิงการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน การสนับสนุนการขยายสเกลการผลิตสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุกแผนงานจะเป็นการบริหารจัดการงบประมาณแบบมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนตามประเด็นยุทธศาสตร์และตามรายพื้นที่ และมั่นใจได้ว่าผลสำเร็จที่จะต้องเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม


 



จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ กรรมการที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น