วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557

ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว




       
                เป็นอีกครั้งหนึ่ง ของการถ่ายทำสารคดี   ของ "  ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี  ผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว "  ซึ่งวันนี้  ครูสมพร  ปานโต  หนึ่งในแกนนำ เจ้าของรางวัล ครูนักอนุรักษ์ป่าฯ ได้ส่งข้อความมาถึง จึงอยากย้อนรอย ให้ได้รู้จัก  ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี  กันให้มากยิ่งขึ้น 





                  วันที่  14  กันยายน  2557  ทีมงานถ่ายทำสารคดีรายการ...Biker on the way ได้มาถ่ายทำสารคดีท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีโดยมี  คุณโจ๊ก ( พี่โจ๊กของน้องๆ ) มาเรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนผ่านการท่องเที่ยว..



            เทปของวันนี้ได้ถ่ายทำป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีโดยน้าเปียก (ประยงค์ แก้วประดิษฐ์ )  เป็นผู้เล่าถึงประวัติป่าฯอย่างสังเขป และได้โยงไปถึงการถ่ายทอดเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าในชุมชนสู่เด็กและเยาวชนโดยนำวัฒนธรรม รำเหย่ย ซึ่งครูบุญธรรม สารีวงษ์ เป็นผู้บอกเล่าและให้เด็กๆบางส่วนสาธิตการร้องและรำเหย่ย  งานนี้ไม่ได้เตรียมพ่อเพลงแม่เพลงไว้ก็เลยเป็นหน้าที่ของเราด้นสดๆและทุกคนช่วยกันเป็นลูกคู่ร้องรับกันไป  (งานนี้เพียงแค่แนะนำเท่านั้น ถ้าต้องการชมของจริงต้องมาที่ชุมชนจ้ะ)



              นอกจากนี้ป่าฯยังเชื่อมร้อยไปสู่กลุ่มอาชีพที่เกิดขึ้นอีกมากมายหลายกลุ่ม แต่เนื่องด้วยวันนี้เวลาในการถ่ายทำมีจำกัดจึงขอนำเสนอกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีเพียงกลุ่มเดียวซึ่งเป็นกลุ่มข้าวเกรียบสายรุ้งสมุนไพร ทิพย์ โดยน้าสมหมาย แก้วประดิษฐ์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์จ้ะ...

              รายการนี้จะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง5เวลาประมาณห้าทุ่มนะจ๊ะ (คืนนี้ก็มีออกอากาศจ้ะ)...ขอบอกว่า..พิธีกร(คุณโจ๊ก)เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่(หล่อ น่ารัก หุ่นสมาร์ท)ที่สนใจและชอบที่จะท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆพร้อมทั้งนำสาระความรู้เหล่านั้นมาเล่าและเผยแพร่ให้ทุกท่านได้รับความรู้ไปด้วยพร้อมๆกัน...



               จึงเป็นอีกรายการหนึ่งที่ขอแนะนำให้ทุกท่านได้ช่วยติดตามและให้กำลังใจกับทางทีมงานด้วยจ้ะ (งานนี้...เราเลยได้เป็นผู้ช่วยพิธีกรแนะนำและพาพิธีกรไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆในชุมชนด้วยจ้ะ มีโอกาสได้โม้ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีด้วยจ้ะโดยเฉพาะเห็ดโคนอันเลื่องชื่อของป่าเรา...เดี๋ยวเห็ดโคนออกเมื่อไรจะส่งไปให้ลิ้มรสกันโดยผ่านทางน้องธาดา ปรีชาชาตินะจ๊ะ)



 ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี  ผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว 



ใช้ป่าชุมชนเป็นสะพานสู่การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม
             
   



ปรัชญาในการจัดการป่าชุมชนมิได้วัดจากการดำรงอยู่ของป่าเพียงอย่างเดียว หากวัดจากประโยชน์ที่ชุมชนพึงได้รับจากผลของการจัดการเหล่านั้น ประโยชน์ที่ว่าหมายรวมถึงการเข้าถึง การแบ่งปันการใช้ทรัพยากรบนพื้นฐานของความเป็นธรรม เท่าเทียมและเกิดประโยชน์ร่วมต่อชุมชนสูงสุด ขณะเดียวกันก็ต่อยอดผลจากการจัดการป่ามาสู่การจัดการชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับฐานทรัพยากรที่มีอยู่
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในกระบวนการจัดการ "ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี"

"บ้านห้วยสะพาน" ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการตั้งถิ่นฐานทำกินมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี ทุกวันนี้ ซากโบสถ์เก่าวัดคงคาซึ่งเป็นวัดร้าง สระน้ำโบราณ และต้นไม้เก่าแก่อายุนับร้อยปี ยังคงปรากฏซากเหลืออยู่ให้เห็นอยู่บ้าง
ชุมชนบ้านห้วยสะพานมีประชากรรวมประมาณ 238 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ใช้ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ นอกนั้นก็มีการเก็บหาของป่าตามฤดูกาลในแต่ละปี วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านห้วยสะพาน มีความผูกพันกับวัฒนธรรมและประเพณีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัจจุบันยังมีการแสดง "เพลงเหย่ย" ซึ่งเป็นการแสดงเพลงพื้นบ้าน "วงมโหรี ปี่พาทย์" ที่มีการสืบทอดวัฒนธรรมจากการฝึกฝนของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีประเพณีทำขวัญแม่โพสพ พิธีทำบุญลาน ทำบุญยุ้งข้าว ประเพณีทำบุญศาลตาปู่ เป็นต้น สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าชุมชนบ้านห้วยสะพาน ยังคงเป็นชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์





จุดเริ่มต้นของการจัดการป่าชุมชน


"ป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบ" เป็นสภาพป่าดั้งเดิมของชุมชนบ้านห้วยสะพาน สถานภาพของป่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองโรง มีความสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้นานาชนิด มีความหลากหลายของสัตว์ป่า และมีน้ำในลำธารไหลตลอดปี ต่อมาในปี 2488 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการตัดไม้เพื่อนำไปก่อสร้างทางรถไฟเพื่อใช้ในสงคราม ประกอบกับต่อมาชาวบ้านได้ตัดไม้เพื่อใช้ประโยชน์และเผาถ่านกันมาก อีกทั้งมีโรงงานกระดาษมาขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อตัดไม้รวก ไม้ไผ่ ทำเยื่อกระดาษ จนกระทั่งป่าเสื่อมโทรมและมีการจับจองที่ดินทำกินเพื่อปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง นายทุนเข้าจับจองพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผืนป่าลดพื้นที่ลงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลกระทบต่อปริมาณน้ำและความแห้งแล้งของพื้นที่
ชาวบ้านและผู้นำชุมชนในขณะนั้นได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานราชการ ให้เข้ามาช่วยเหลือและผลักดันผู้มีอิทธิพลและกลุ่มนายทุนออกจากพื้นที่ ความพยายามนี้เป็นผลสำเร็จ ชาวบ้านจึงเห็นสมควรให้มีการทำแนวเขตเพื่อป้องกันการบุกรุก โดยใช้แนวต้นไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และในปี 2517 ได้มีการรังวัดและปักหลักเขตด้วยเสาคอนกรีต ทำคันดินเป็นแนวเขตป่า มีเนื้อที่วัดได้ประมาณ 1,008 ไร่
ในระยะแรก การดูแลรักษาป่าเป็นหน้าที่ของกลุ่มอาสาสมัครของหมู่บ้าน มีการตรวจลาดตระเวนป่าสลับหมุนเวียนกันไป นอกจากนี้ยังใช้กลุ่มผู้เลี้ยงวัวเป็นผู้สอดส่องดูแลและแจ้งเหตุการกระทำผิดในป่าของชุมชน
ในปี 2543 จากการเริ่มต้นจัดการป่าชุมชนแบบหลวมๆ ก็ได้พัฒนามาเป็นกระบวนการจัดการป่าที่มีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น โดยมีชาวบ้านห้วยสะพาน บ้านใหม่ บ้านหนองกระจันทร์ และบ้านดอนเจริญ รวม 4 หมู่บ้าน ได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้ง "ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี" และเกิดคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบดูแลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี "นายประยงค์ แก้วประดิษฐ์" เป็นประธาน การจัดโครงสร้างองค์กรมีประธานฝ่ายต่างๆ รองรับการดำเนินงานชัดเจน เช่น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายป้องกัน ฝ่ายพัฒนาป่าชุมชน และมีการวางแผนในการดำเนินงานที่เป็นระบบและต่อเนื่อง





การเชื่อมโยงกระบวนการจัดการป่าสู่ชุมชน



เมื่อมีโครงสร้างขององค์กรและแผนการจัดการของป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีที่ชัดเจนแล้ว การขับเคลื่อนกิจกรรมการดูแลรักษาป่า นับเป็นความท้าทายใหม่ที่สมาชิกในชุมชนต้องร่วมมือกันดำเนินงาน ภายใต้ความเอกภาพและเอกลักษณ์ของชุมชน ทำให้ความร่วมมือในการจัดการป่าดีขึ้นเป็นลำดับ มีการจัดทำแนวกันไฟทุกปี เพื่อกันพื้นที่ป่าทั้ง 1,008 ไร่ ไว้ให้ได้ พร้อมปลูกต้นไม้เสริมในเขตป่าชุมชน เติมเต็มด้วยการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะในการจัดการป่าชุมชน จากหน่วยงานด้านป่าไม้ในจังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนชาวบ้านเข้ารับการอบรมหลักสูตร "ป่าชุมชน" ทำให้สามารถขยายแนวร่วมในการปลูกต้นไม้จากเขตป่าสู่ที่สาธารณะ วัด โรงเรียน สองข้างทาง ริมคลองส่งน้ำ ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
ในปี 2542 ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากกรมป่าไม้ให้เป็น "ป่าพื้นบ้าน อาหารชุมชนดีเด่นระดับเขต" เป็นบทพิสูจน์ของความร่วมแรงร่วมใจ ชาวบ้านและชุมชนบ้านห้วยสะพานได้ข้อสรุปว่า กระบวนการจัดการป่าชุมชน เนื้อแท้แล้วก็เพื่อที่จะให้เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งในมิติทางด้านนิเวศ สังคม และเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมๆ กัน
ในปีต่อมา ชุมชนส่งชาวบ้านเข้าอบรมในโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า และกลับมาตั้งกลุ่ม รสทป. ขึ้นในหมู่บ้าน ดูแลรักษาป่าทั้งป่าชุมชนและป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าหนองโรง) ที่อยู่ติดกัน มีการระดมทุนสำหรับการดำเนินงานจำนวนหนึ่ง จนกระทั่งปี 2543 ก็ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็น "พื้นที่ตำบลเขียวขจีดีเด่น" ระดับจังหวัด
กลวิธีที่ชุมชนบ้านห้วยสะพานใช้ในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนก็คือ การใช้ป่าชุมชนเป็นสะพานสู่ความร่วมมืออย่างแข็งขันในการพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ กิจกรรมการปลูกป่ายังคงดำเนินต่อไป โดยใช้โอกาสและวาระสำคัญต่างๆ มาเป็นจุดยึดโยงทางเวลาในการระดมพลัง ป่าที่เคยเสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จนปัจจุบัน มีสภาพที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลายทางชีวภาพของสัตว์และสัตว์ป่านานชนิด



ศูนย์กลางการเรียนรู้

การที่แกนนำคณะกรรมการป่าชุมชนฯ มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนความรู้และภูมิปัญาในการจัดการป่าร่วมกัน หน่วยงานภายนอกหลายครั้งหลายคราว พวกเขาจึงมีโอกาสร่วมถอดบทเรียนในการจัดการป่าชุมชน จึงเห็นว่ากระบวนการจัดการป่าชุมชนที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้ ต้องประกอบด้วยการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชน การขยายเครือข่ายในการทำงาน การต่อยอดการจัดการป่าสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ขึ้นมาสืบทอดการดำเนินงานการอนุรักษ์ต่อไป
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านห้วยสะพานได้ใช้ผืนป่าเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดและเรียนรู้ ในกระบวนการจัดการป่าที่เชื่อมโยงกับวิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชุมชน มีองค์กรจากภายนอกสับเปลี่ยนเข้ามาเรียนรู้อยู่เป็นระยะ ทั้งการถ่ายทำสารคดี การอบรมค่ายเยาวชน จนในที่สุดชาวบ้านเห็นพ้องต้องกันว่า ป่าของชุมชนได้พัฒนามาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม
เมื่อเป็นเช่นนั้น ชุมชนจึงเริ่มปรับกระบวนทัศน์ในการทำงาน จากที่มุ่งเน้นการจัดการป่าอย่างเดียว มาสู่มิติการพัฒนาชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะการรวมกลุ่มอาชีพเพื่อใช้ฐานความรู้ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เกิดจากการจัดการป่ามาต่อยอดอาชีพ เช่น กลุ่มทำข้าวเกรียบสมุนไพร กลุ่มทำขนม และของที่ระลึก นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานเรื่องกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านห้วยสะพาน วิทยุชุมชน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้กลายเป็นกลไกในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างเห็นได้ชัด





ยั่งยืน...ด้วยหลัก "บวร"


ชาวบ้านห้วยสะพานมีความผูกพันกับวัดและโรงเรียนอย่างใกล้ชิด ประเพณีส่วนใหญ่ของชุมชนประกอบขึ้นในเขตวัด ทำให้วัดมีบทบาทอย่างมากในการขัดเกลาด้านศีลธรรมและจริยธรรม ชาวบ้านมีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น ดังนั้นกลวิธีในการจัดการป่าจึงขยายจากเขตพื้นที่ป่าชุมชนมาสู่การสร้างป่าในวัด ด้วยโครงการ "ปลูกป่าสัญญาใจ" เพื่อให้ชุมชนร่วมกันปลูกต้นไม้ประจำตัวหรือประจำครอบครัวขึ้น จากนั้นร่วมกันดูแลรักษาเสมือนหนึ่งเป็นชีวิตของผู้ปลูกเอง อันเป็นกุศโลบายที่ทำให้เกิดความระหว่างชุมชนกับวัด ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เพิ่อใช้ในการเรียนรู้ของนักเรียน/เยาวชนให้มีจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ




การต่อสะพานเชื่อมคนรุ่นใหม่


การจัดการป่าชุมชนเป็นมิติที่มีการดำเนินงานที่ต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสูตรสำเร็จหรือรูปแบบในการจัดการที่ตายตัว แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถชี้วัดความสำเร็จของการจัดการคือ การส่งมอบภารกิจในการจัดการป่าจากคนรุ่นบุกเบิกสู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับชุมชนบ้านห้วยสะพาน ได้เล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกระตุ้นให้เยาวชน นักเรียน และลูกหลานในชุมชนหันมารักษ์ธรรมชาติ จึงได้เกิดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ให้กับเยาวชนในท้องถิ่น โดยมีโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านและผู้นำชุมชนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชน
กลุ่มเยาวชนมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนในการศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชน โดยเฉพาะพืชอาหารป่าที่มีหลากหลายชนิด เช่น กุ่ม ขี้เหล็ก จัน ตำลึง นมแมว ผักหวาน ย่านาง แมงลัก เห็ดขอน มะขามป้อม สารภี มะตูม หว้าป่า ผักเสี้ยน เถาวัลย์เปรียง หน่อไม้ บัวเผือน เห็ดเผาะ เห็นมันปู มะสัง เล็บเหยี่ยว มะรม สะเดา ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชป่าที่ชาวบ้านสามารถเก็บหาได้ตลอดทั้งปี ความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะเรื่องป่าอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนด้วยเช่นกัน




สร้างศักยภาพแบบพึ่งพิงตนเอง


"เงินทุนหรืองบประมาณ" เป็นปัจจัยของการดำเนินกิจกรรมในการดูแลรักษาป่า แทบทุกชุมชนมักประสบปัญหาในการขับเคลื่อนกิจกรรม เพราะขาดเงินทุน ในกรณีของป่าชุมชนห้วยสะพานสามัคคี ยึดปรัชญาการทำงานโดยเน้นการพึ่งพิงตนเองเป็นลำดับแรกสุด โดยได้ประสานความร่วมมือไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโรง ให้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของกลุ่ม ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่ง
นอกจากนี้ ยังสร้างศักยภาพในการประสานแหล่งงบประมาณภายนอกอื่นๆ อีก เช่น กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ผู้มีจิตสาธารณะ และจากชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านร่วมกันบริจาคเข้ากองทุน รวมทั้งจากการได้รับค่าวิทยากรและเงินที่มอบให้จากคณะที่เข้ามาศึกษาดูงาน ปัจจุบันคณะกรรมการป่าชุมชนฯ มีงบประมาณและทุนสำรองในการดำเนินงานได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้นัง





เปิดพื้นที่ทางสังคมด้วยการสร้างเครือข่าย


รูปแบบการจัดการป่าชุมชนมีความหลากหลายและแตกต่างไปตามวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และบริบทของแต่ละชุมชน ความรู้และภูมิปัญญาในการจัดการป่าชุมชน ล้วนเกิดจากการสั่งสมวิถีปฏิบัติกับทรัพยากรจน แปรเปลี่ยนเป็นประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากรอย่างใกล้ชิด การจัดการป่าจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อชุมชนได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรร่วมกันตามแนวทางของการอนุรักษวิธี ซึ่งหากจะทำให้เกิดการขยายแนวร่วมในการจัดการป่าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สิ่งที่ควรเริ่มดำเนินการก่อนเรื่องอื่นๆ ก็คือการสร้างกลุ่มเครือข่ายป่าชุมชนในระดับจังหวัดให้เกิดขึ้นให้ได้นั่นเอง
ในปี 2544 กลุ่มผู้นำป่าชุมชนจาก 17 หมู่บ้าน จาก 6 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้การนำของป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี มีโอกาสไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการป่าของชุมชนในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน SIF ผลจากการศึกษาดูงานทำให้เกิดการจัดตั้ง "กลุ่มเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี" โดยมีนายประยงค์ แก้วประดิษฐ์ (ประธานป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี) เป็นประธานกลุ่มเครือข่ายมาจนถึงปัจจุบัน
เป้าหมายของการสร้างกลุ่มเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี ก็เพื่อมุ่งเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนระดับจังหวัดให้มีความเข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือสนับสนุนและเชื่อมร้อยองค์กรในพื้นที่ และให้เกิดการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติจากป่าชุมชนอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกป่าชุมชนระดับหมู่บ้าน 74 หมู่บ้าน เครือข่ายระดับตำบล 22 ตำบล และเครือข่ายระดับอำเภอ 9 อำเภอทั้งจังหวัดกาญจนบุรี
การดำเนินการในการสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นในจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการดำเนินงานของลุงประยงค์ ทั้งในฐานะประธานป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี และประธานกลุ่มเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี
ความร่วมมือในการจัดการป่าของชุมชนในหลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นมาจากประสบการณ์ตรงที่ตนเองผ่านวิกฤติของความเสื่อมโทรมของป่ามาแล้วทั้งสิ้น ชาวบ้านห้วยสะพานสามัคคีก็ไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่บ่งชี้ความยั่งยืนของทรัพยากรและป่า ก็คือการฟื้นตัวของป่าที่เป็นผลมาจากการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
แต่ปรัชญาในการจัดการป่าชุมชนมิได้วัดจากการดำรงอยู่ของป่าเพียงอย่างเดียว หากวัดจากประโยชน์ที่ชุมชนพึงได้รับจากผลของการจัดการเหล่านั้น ประโยชน์ที่ว่าหมายรวมถึงการเข้าถึง การแบ่งปันการใช้ทรัพยากรบนพื้นฐานของความเป็นธรรม เท่าเทียมและเกิดประโยชน์ร่วมต่อชุมชนสูงสุด ขณะเดียวกันก็ต่อยอดผลจากการจัดการป่ามาสู่การจัดการชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับฐานทรัพยากรที่มีอยู่
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในกระบวนการจัดการ "ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี"













                “ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี”



                          กรมป่าไม้ ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ถ้วยรางวัลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2555 พร้อมลงนามบันทึกข้อความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินการโครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ระยะที่ 2  เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้และพัฒนาชุมชนให้อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน โดยมี นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานในพิธี ซึ่งโครงการนี้นับเป็นความร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้





ชื่อชุมชน : บ้านห้วยสะพานสามัคคี
หมู่ที่ 2 ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี 71140
ผู้ประสานงาน : นายประยงค์ แก้วประดิษฐ์ (ประธานป่าชุมชน)
49 หมู่ 2 ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี 71140
โทร. 089 836 7223
พื้นที่ป่าชุมชน : 1,008 ไร่
ประชากร : ประชากร 4 หมู่บ้าน (บ้านห้วยสะพาน บ้านใหม่ บ้านหนองกระจันทร์ และบ้านดอนเจริญ
ที่ดูแลป่าร่วมกัน) จำนวน 2,754 คน

ผลต่อการเปลี่ยนแปลง :
  • สามารถฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เกิดความอุดมสมบูรณ์ทั้งพรรณพืชและสัตว์ป่า
  • การศูนย์กลางการเรียนรู้ เชื่อมโยงการจัดการป่ามาสู่การรวมกลุ่มอาชีพเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน
  • ใช้ประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นกลไกในการทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์
การเกิดประชาสังคม :
  • สร้างกุศโลบายการดูแลป่าทั้งชุมชนด้วยโครงการ "ปลูกป่าสัญญาใจ"
  • เป็นแกนนำในการสร้างเครือข่ายได้ถึง 17 หมู่บ้าน ใน 6 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี




โดย กิติชัย รัตนะ
ภาคภาควิชาอนุรักษ์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะทำงานภูมิภาค ภาคกลาง-ตะวันตก





   เรวัติ  น้อยวิจิตร   สุพรรณบุรีนิวส์   rewat.noyvijit@hotmail.com   081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น