วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

ป.ป.ส. เปิดแนวรบ มุ่งสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ ปลอดภัยจากยาเสพติด



นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการวางทิศทางการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับคนไทยตั้งแต่ระดับปฐมวัย (แรกเกิด – 6 ปี) เพื่อสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งและห่างไกลจากยาเสพติด  สำนักงาน ป.ป.ส. ตัดสินใจเพิ่มน้ำหนักการทำงานด้านการป้องกัน โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเด็กปฐมวัย แม้ยังไม่เกิดปัญหา

องค์ความรู้สำคัญที่จะนำมาใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มเด็กปฐมวัย คือ  องค์ความรู้ด้านประสาทวิทยา ในเรื่อง อีเอฟ (EFs หรือ Executive Functions) ซึ่งหมายถึง “ความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต” เป็นทักษะในการคิดและรู้สึก เช่น ยับยั้งชั่งใจ คิดก่อนทำ รู้จักควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมให้เหมาะสม ความมุ่งมั่นพากเพียร และรู้จักปรับตัวกับสถานการณ์ ล้มแล้วลุกได้ โดยที่ EF มีช่วงระยะที่จะพัฒนาได้อย่างดี คือ ในช่วงอายุ 2-6 ปี ดังนั้น หากต้องการพลเมืองที่มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งต่อยาเสพติดและปัญหาอื่นๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างถูกวิธีในช่วงอายุนี้
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป สำนักงาน ป.ป.ส. มีทิศทางและแผนงานขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กปฐมวัย แบ่งเป็น 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. สร้างเครื่องมือ จัดทำสื่อเสริมพัฒนาการสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กปฐมวัย ทั้งในรูปแบบนิทาน และสื่ออื่นๆ อาทิ เพลง เกมส์ ของเล่น  2.พัฒนาบุคลากร ได้แก่ ครู รร.อนุบาล และครูผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศเพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.ขยายและพัฒนา ภาคีเครือข่าย คือ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย ได้แก่ เครือข่ายครู ชุมชน ครอบครัว รวม 53,553 แห่ง โดยมีการทำ MOU กับ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทยในเรื่องนี้แล้ว 4.พัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ โดยเฉพาะการวิจัยและประเมินผลเพื่อดูผลสัมฤทธิ์ของการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่องมากกว่า 5 ปี เพื่อเป็นองค์ความรู้เชิงประจักษ์ในการพัฒนาการทำงานต่อไป ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เด็กปฐมวัยจะได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมสามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ และเป็นพลังในการพัฒนาประเทศต่อไป 


นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการในกลุ่มบริษัท อาร์แอลจี กล่าวว่า มีงานวิจัยระยะยาวในต่างประเทศยืนยันชัดเจนว่า เด็กที่ EFs ดี เมื่อขึ้นไปเรียนในระดับชั้นประถม-มัธยมหรือมหาวิทยาลัยก็จะมีผลการเรียนดี เมื่อทำงานก็ประสบสำเร็จมาก  เป็นหนี้สินน้อย  กระทำผิดทางกฎหมายน้อย มีภาวะการเสพติดสิ่งต่างๆ น้อย และเมื่อมีครอบครัว คนมี EFs ดีก็มีชีวิตคู่ที่อบอุ่น ดังนั้น EFs ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันที่จะช่วยคนเราในการดำรงชีวิต จะพูดก็ได้ว่า EFs นั้นรวม IQ-EQ-SQ ไว้ทั้งหมด
สมองของมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนา EFs ได้ทั้งสิ้น แต่ต้องได้รับการฝึกฝน  ช่วงเวลาฝึกฝนที่ได้ผลดีที่สุดคือช่วงก่อน ขวบ  หลังจากนั้นไปแล้วก็ยังพัฒนาได้ แต่ในอัตราที่ไม่ดีเท่าวัยเด็กเล็ก ดังนั้น ถ้าเราละเลยการฝึกฝน EFs ในช่วงอนุบาล ก็เท่ากับเราโยนโอกาสพัฒนาสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตเด็กไทยทิ้งไปอย่างน่าเสียดายที่สุด  ถ้าเราจะพัฒนาเด็กไทยให้ถูกที่ถูกทาง การเรียนในช่วงอนุบาลจะต้องไม่เร่งเรียนเขียนอ่าน แต่ต้องเป็นการเรียนแบบ Active Learning ให้เด็กได้เล่น ได้ลงมือทำด้วยตนเอง (Learning by Doing) ได้คิดค้นและวางแผนกิจกรรมต่างๆ กับกลุ่ม เป็นต้น แล้วเสริมทักษะ EFs เข้าไป
สถาบันอาร์แอลจี ได้ร่วมมือกับ ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์  สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร. นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ในการจัดการความรู้และพัฒนาสื่อหลากหลายรูปแบบ เพื่อสนับสนุนสำนักงาน ป.ป.ส. ในการสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนรู้ด้าน EFs ที่ออกแบบมาอย่างประณีต สำหรับผู้เข้าเรียนรู้แต่ละกลุ่ม ให้พ่อแม่ ครูอนุบาล ครูศูนย์เด็กเล็ก เข้าใจและนำใช้ต่อได้อย่างแท้จริง เราคาดหวังจะสร้าง Facilitator หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ด้าน EFs ให้มีทุกจังหวัดทั่วประเทศ

 พนิต ใจคนึง     Phanit Jai ( jaiphanit66@gmail.com ) 091-882-1476  
เรวัติ น้อยวิจิตร   hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445
                                       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น