วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

วช.ปลื้มงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ไทยได้รับหลายรางวัลในเวทีนานาชาติ


สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.ปลื้มผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยได้รับหลายรางวัลในเวทีนานาชาติ พร้อมประกาศหนุนทุนต่อยอดพัฒนาสูงสุดจนผลงานสู่มาตรฐานและใช้ได้จริง




ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความสำเร็จที่ วช.ร่วมกับ 20 กว่าหน่วยงาน นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ ที่สาธารณรัฐเกาหลี และไต้หวัน จนได้รับรางวัลและสร้างชื่อเสียง ว่า นับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากมีผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยที่สาธารณรัฐเกาหลีมีผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด 101 ผลงาน และได้รับรางวัลถึง 121 รางวัล และที่ไต้หวันมีผลงานเข้าร่วม 12 ผลงาน และได้รับรางวัล 20 รางวัล




ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่มีผลงานร่วมประกวดที่สาธารณรัฐเกาหลี ได้รับรางวัลสูงสุดถึง 2 รางวัล คือ รางวัลระดับ Grand Prize ซึ่งถือเป็นรางวัลชนะเลิศของการประกวดในงานนี้ ได้แก่ นวัตกรรมเม็ดบีด หรือ เฟรชทูจอย ที่พัฒนาเทคโนโลยียับยั้งเชื้อราผลไม้ผิวบางไม่ให้เน่าเสียระหว่างการขนส่ง ทำให้สดใหม่และน่ารับประทาน โดยเป็นของศาสตราจารย์ ดร.นงนุช เหมืองสิน และคณะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนอีกผลงานเป็นไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับอัตโนมัติ ซึ่ง เด็กหญิงสุพิชญาณ์ เหมรัญช์โรจน์ และคณะจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประดิษฐ์ขึ้นโดยพัฒนามาจากการใช้ไม้เท้าทั่วไปเวลาเจ็บป่วยในชีวิตประจำวัน ให้สามารถปรับขึ้นลงบันไดได้อย่างอัตโนมัติ



เลขาธิการ วช. กล่าววว่า การที่ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยได้รับรางวัลในเวทีนานาชาติ แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในมาตรฐานผลงานของไทย ดังนั้น วช.ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการวิจัยของประเทศ เตรียมเปิดช่องทางเพื่อขยายผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ โดยร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ภายใต้ สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวนช. ด้วยการให้ทุนวิจัยเพิ่มเติมแก่ผลงานที่ได้รับรางวัลและผ่านการรับรองว่ามีแนวคิดที่ดี เพื่อต่อยอดให้ใช้งานได้ นอกจากนี้ วช.จะเลือกจากผลงานที่มีต้นแบบและแนวโน้มทางการตลาดที่ดี แต่ยังขาดเรื่องมาตรฐานรับรองให้ขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนทุนให้นำผลงานเหล่านี้เข้าสู่ขบวนการทดสอบและรับรอง ทั้งด้านมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาครัฐหรือเอกชนที่จะนำไปขยายผลเกิดความมั่นใจ และผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น 



เมื่อผลงานสิ่งประดิษฐ์ผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ และพ้นระยะของการพัฒนาต้นแบบแล้ว ก็จะนำไปขึ้นบัญชีนวัตกรรมพร้อมจำหน่ายและใช้งานต่อไป





จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น